กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยคาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวร้อยละ 3.9 จากแรงกระตุ้นของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจกรุงไทยไตรมาสที่ 4/2557 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแรงส่งของความเชื่อมั่นในอนาคต ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ยกเว้นธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 จากแรงกระตุ้นของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัว จากการเร่งอนุมัติ BOI ในช่วงก่อนหน้า และจะเกิดการลงทุนจริงในปีนี้ รวมถึงการลงทุนเพื่อรองรับ AEC นอกจากนี้ การลดลงของราคาน้ำมัน จะช่วยลดต้นทุนภาคการผลิต และเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ดี หนี้ภาคครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง การปรับขึ้นของราคา LPG ภาคขนส่ง และ NGV ราคาพืชผลเกษตรที่ยังตกต่ำ การส่งออกที่ขยายตัวต่ำ ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน และความท้าทายทางการเมือง ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
“สำหรับดัชนีธุรกิจกรุงไทย (Krung Thai Business Index: KTBI) ซึ่งฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจได้จัดทำในทุกไตรมาส พบว่าในไตรมาสที่ 4/2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากระดับ 51.50 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ ระดับ 52.37 ส่วนความเชื่อมั่นในอนาคตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.81 เนื่องจากนักธุรกิจคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงแรง และมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ช่วยลดต้นทุนภาคการผลิต และเพิ่มอำนาจซื้อให้กับครัวเรือน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เพื่อรักษาระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาจำแนกตามประเภทธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ยกเว้นธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าปกติ ขณะที่ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจคาดหวังผลบวกจากการเร่งรัดโครงการขนส่งมวลชนระบบราง และการตัดถนนสายใหม่ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภูมิภาค ที่จะส่งผลดีต่อการก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์