กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
ตั้งเป้าปี 58 สัดส่วนการส่งออกไก่ไทยโต 6-7 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ารวมกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามผลักดันให้เกาหลีใต้พิจารณานำเข้าสินค้าไก่สดแช่แข็งของไทย หลังจากที่ถูกระงับไว้ตั้งแต่ปี 2547 มาโดยตลอด พร้อมทั้งได้นำเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าหารือระดับทวิภาคีกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเกาหลีใต้ ที่ปูซาน เพื่อเร่งรัดกระบวนการพิจารณาการนำเข้าสินค้าไก่สดแช่แข็งของไทย โดยล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ได้แจ้งผลการพิจารณาของกระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบทเกาหลีใต้ว่า ได้ดำเนินกระบวนการประเมินความเสี่ยงในการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกของไทย โดยเห็นควรให้อนุญาตให้นำเข้าไก่สดไทยไปยังเกาหลีใต้ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ภายในเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในขั้นต่อไปยังต้องผ่านกระบวนการหารือเพื่อพิจารณาข้อบังคับเงื่อนไขด้านความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบและควบคุมโรคสัตว์ การประกาศใช้ข้อบังคับเงื่อนไขด้านความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบและควบคุมโรคสัตว์ และการรับรองสถานประกอบการและกำหนดรูปแบบเอกสารรับรองการปลอดโรคสัตว์ ซึ่งการตรวจสอบของเกาหลีใต้จะมี 8 ขั้นตอน ขณะนี้ไทยผ่านขั้นตอนที่ 5 เรียบร้อยแล้ว และขั้นตอนต่อไปนี้จะต้องร่างเงื่อนไขการส่งออกร่วมกันกับกรมปศุสัตว์ การเผยแพร่เงื่อนไขและการตรวจสอบให้การรับรองโรงเชือดและโรงชำแหละไก่เพื่อการผลิตและส่งออกไปยังเกาหลีใต้
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการนำเข้าไก่สดแช่แข็งของเกาหลีใต้ในปีที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2557 เกาหลีใต้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจำนวน 112,510 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และคาดว่าในปี 2558 เกาหลีใต้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณจะอยู่ที่ จำนวน 115,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้พึ่งพาการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากบราซิลและสหรัฐอเมริกา กว่าร้อยละ 90 ของการนำเข้าทั้งหมด ใช้เวลาในการขนส่งทางเรือเฉลี่ย 40 วัน ส่งผลให้ค่าขนส่งและค่าจัดเก็บสินค้าสูงกว่าสินค้าจากประเทศไทยที่ใช้เวลาขนส่งเพียง 10 วัน ประกอบกับในช่วงเดือนธันวาคม 2557 เกิดการระบาดโรคไข้หวัดนกในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกาหลีใต้ประกาศห้ามนำเข้าไก่มีชีวิตและไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าถึงตลาดเกาหลีใต้ด้วยไก่ที่ส่งจากประเทศไทยที่ใช้ระยะเวลาการขนส่งน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้นำเข้า และที่สำคัญยังเป็นปัจจัยดึงดูดให้เกิดความต้องการสั่งซื้อสินค้าไก่สดจากเกษตรกร เพื่อการส่งออกของผู้ส่งออกไทยมากขึ้น
ดังนั้น การประกาศเห็นชอบในหลักการให้ไทยสามารถนำเข้าไก่แช่แข็งของไทยในครั้งนี้ จะทำให้เกาหลีใต้กลับมาเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกไก่ของไทยอีกครั้งหนึ่ง จากเดิมที่ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกหลักในการส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังเกาหลีใต้ โดยในปี 2546 ไทยส่งไก่สดแช่แข็งไปทั้งสิ้น 42,580 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,230 ล้านบาท แต่ได้หยุดการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทย
“เพื่อให้การประกาศดังกล่าวเกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหารือเพื่อตกลงในข้อบังคับในการปฏิบัติเพื่อตรวจสอบ และควบคุมโรคสัตว์โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในตลาดส่งออกไก่ของไทย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้ไทยมีตลาดส่งออกไก่สดเพิ่มอีก 4 หมื่นตัน/ปี จากเดิมที่เคยส่งได้เฉพาะไก่ปรุงสุกปริมาณ 2.3 หมื่นตัน/ปี ส่วนปริมาณรวมทั้งปี 2558 คาดว่าไทยจะส่งออกไก่เพิ่มได้ 6 แสนตัน เพิ่มจากปี 2557 ที่ส่งออกได้ 5.6 แสนตัน เติบโต 6-7 เปอร์เซ็นต์ ในแง่มูลค่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.1-8.2 หมื่นล้านบาท” นายปีติพงศ์ กล่าว.a