กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ของหุ้นกู้ค้ำประกันของบริษัท โฮลซิม แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1.22 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2558 ที่ระดับ ‘AA–(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตของหุ้นกู้สะท้อนถึง การได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้ จาก Holcim Ltd หรือ Holcim โดยปัจจุบัน Holcim ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ Holcim อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินภายในประเทศระยะยาว (Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระดับ ‘A-’ สองระดับ ซึ่งเทียบเท่ากับอันดับเครดิตภายในประเทศที่ระดับ ‘AA-(tha)’
บริษัท โฮลซิม แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในกลุ่ม Holcim ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยบริษัทได้ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท ไทย ร็อค-เซม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 27.5 ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทย โดย SCCC มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ผู้ถือหุ้นของบริษัท โฮลซิม แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย บริษัท ไทย ร็อค-เซม จำกัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัท โฮลเดอร์ฟิน บีวี ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 โดยหุ้นของบริษัท ไทย ร็อค-เซม จำกัด ทั้งหมดถือโดย บริษัท โฮลซิม พาทิซิเพชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท โฮลเดอร์ฟิน บีวี ที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย Holcim
Holcim เป็นผู้นำในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายซีเมนต์ หินก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง บริษัทมีการกระจายตัวของธุรกิจที่ดี ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ Holcim และของประเทศไทยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าวได้ โดยที่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลหนึ่งอันดับ อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตภายในประเทศมากกว่าหนึ่งอันดับได้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ Holcim ตามประกาศหัวข้อ ‘Fitch Affirms Holcim at 'BBB'; Outlook Stable’ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 มีดังนี้
ปัจจัยบวก:
- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ลดลงต่ำกว่า 2.5 เท่า และ อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) ลดลงต่ำกว่า 2.0 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวคำนวณผลประกอบการจากธุรกิจในประเทศอินเดียตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pro-rata Consolidation)
- อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า
- กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) เป็นบวก
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี ต่อรายได้ (EBIT Margin) โดยคำนวณผลประกอบการจากธุรกิจในประเทศอินเดียตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pro-rata Consolidation) อยู่ในระดับต่ำกว่า 10%
- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) สูงกว่า 3.5 เท่า และ อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) สูงกว่า 3.0 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวคำนวณผลประกอบการจากธุรกิจในประเทศอินเดียตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pro-rata Consolidation)
- อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) อยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 เท่า
- กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) เป็นศูนย์ หรือเป็นลบ