มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก้าวสำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาแรงงานฝีมือในภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 14:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--GIZ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ของ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันนำเสนอ มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการสำหรับภูมิภาคอาเซียน ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยมาตรฐานดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของความร่วมมือจากภาคเอกชนในระบบอาชีวศึกษาในภูมิภาค และมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในภูมิภาค โดยเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกขนซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรฐานดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการจำนวน 4 ครั้ง โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเข้าร่วม คือ กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึง ประเทศในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพัฒนามาตรฐานระดับภูมิภาคอย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย ดร. ศิริพรรณ ชุมนุม คณะกรรมการการอาชีวศึกษา และตัวแทนของ สอศ. กล่าวว่า “ทาง สอศ. มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ สำนักงานโครงการ “การพัฒนาการสอนงานที่มีประสิทธิภาพในสถานประกอบการ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จัดตั้งขึ้นใน สอศ. และมุ่งดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาสมรรถนะของครูฝึกในสถานประกอบการ ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน ความร่วมมืออย่างจริงจังและการแบ่งปันข้อมูลจากทั้งภาครัฐและเอกชนเช่นนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพัฒนามาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการ นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อไป” มร. คริสเตียน ชเตือร์ ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า “มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภูมิภาคอย่างยั่งยืน การส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแรงงานฝีมือ โดยฝึกทักษะแรงงานในสถานประกอบการ นอกจากจะทำให้ได้แรงงานฝีมือตรงตามความต้องการแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคอีกด้วย แต่การจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้น สถานประกอบการเองจะต้องสามารถจัดการฝึกอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้นการประกันคุณภาพการสอนงานในสถานประกอบการเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการ เพื่อให้แน่ใจว่าครูฝึกจะสามารถสอนงานได้อย่างครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับการฝึกอย่างแท้จริง” โครงการ “การสอนงานที่มีประสิทธิภาพในสถานประกอบการในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในภาพ: มร. คริสเตียน ชเตือร์ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการสอนงานที่มีประสิทธิภาพในสถานประกอบการในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างการเสวนาเรื่องการพัฒนามาตรฐานครูฝึกและแผนงานในอนาคต ในงานประชุมเรื่อง “การนำเสนอมาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการ สำหรับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ