กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รุกสร้างศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรมนำร่องเปิด “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ”กิจกรรมอบรมการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำในอุตสาหกรรม รุกการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เร่งให้ตระหนักด้านความปลอดภัย และตรวจวัดมลพิษเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำการใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่ไม่ต้องลงทุน เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน ลดภาระต้นทุน และยังเป็นมิตรกับประชาชน ทั้งนี้มีโรงงานอุตสาหกรรม 12 โรงงาน หน่วยงานภาครัฐ วิศวกรและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 150 คน คาดว่า “โครงการนำร่องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไอน้ำฯ” จะช่วยให้เกิดการ ลดต้นทุนในระบบไอน้ำได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อโครงการต่อปี ทั้งนี้กิจกรรมอบรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2558 ณ โรงแรมเคพาร์ค แกรนด์ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
ดร. พสุ โลหารชุณ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานในการประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งพบว่าการประกอบกิจการโรงงานบางส่วน บางประเภท ยังคงมีปัญหาในหลายประเด็น ทั้งที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เก่า บุคลากรที่ขาดความรู้ รวมถึงประเด็นความปลอดภัยที่ยังเกิดขึ้นอยู่ สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ กรอ.จึงจัดทำ “โครงการนำร่องเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำฯ” เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าสำหรับโรงงานปาล์มและเยื่อกระดาษ รวมถึงการวางแนวทางมาตรการต่างๆให้โรงงานประเภทที่มีความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นต้นแบบสำหรับโรงงานอื่นๆนำไปขยายผลให้เกิดประสิทธิภาพด้านต่างๆในวงกว้างสำหรับอุตสาหกรรมปาล์มต่อไป
ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับงบประมาณการสนับสนุนโครงการฯจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีเป้าหมายหลักคือกำกับดูแลและส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง โดยจัดตั้งทีมที่ปรึกษาเปิดอบรม “โครงการนำร่องเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำฯ” ดำเนินการโดยสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ โดยกระบวนการหลักของ “โครงการนำร่องเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำฯ” คือบูรณาการด้าน พลังงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. สำรวจ ตรวจสอบ ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหม้อน้ำ
2. วิเคราะห์แนวทางการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นการปรับปรุงกระบวนการผลิต และการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีค่าใช้จ่ายน้อย หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลยให้แก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ
3. การอบรมให้ความรู้แก่โรงงาน และผู้เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลา 3 วัน โดยเสริมสร้างให้มีความรู้และการพัฒนาต่อยอดต่อไปได้
4. ติดตามผลการดำเนินงานปรับปรุงตามแนวทางที่เหมาะสมตามคำแนะนำของวิศวกรที่ปรึกษา
5. จัดทำคู่มือเผยแพร่ผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ในปี 2558 “โครงการนำร่องการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำฯ” มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษเข้าร่วมจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง ตรัง ชลบุรี จำนวน 12 โรงงาน อาทิ บริษัทชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด(มหาชน) บริษัทวิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัททักษิณ 2521 จำกัด บริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น รวมถึงเจ้าของกิจการ วิศวกร หรือ ผู้ควบคุมหม้อน้ำในโรงงานเข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้นกว่า 150 คน อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการฯนี้จะช่วยให้เกิดการ ลดต้นทุนในระบบไอน้ำได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี หากในอนาคตมีการขยายผลไปยังโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษทั้งหมดกว่า 200 โรงงานทั่วประเทศ คาดว่าจะ ประหยัดพลังงานได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของปาล์มน้ำมันและวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตยังสามารถนำมาผลิตก๊าซชีวภาพสร้างรายได้เพิ่ม ช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีก อย่างไรก็ตามการขยายผลของโครงการฯจะช่วยให้มีการใช้พลังงานในระบบไอน้ำของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม มีความปลอดภัยสูงขึ้น และ รักษาสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตรกับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มให้แข่งขันกับระดับอาเซียน หรือระดับโลกได้ ดร. พสุ กล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายศุภกิจ บุญศิริ สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-202-4217, 02-202-4222 หรือ 081-822-4797