สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชน ต่อบรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศและสถานการณ์ภายใน

ข่าวทั่วไป Monday February 16, 2015 14:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นต่อบรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศและสถานการณ์ภายใน: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 605 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2558 ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 34.4 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 45.8 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 15.8 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ และร้อยละ 4.0 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและคณะ พบว่า ร้อยละ 67.9 ระบุเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 28.8 ระบุดีเหมือนเดิม ร้อยละ 3.3 ระบุแย่เหมือนเดิม ตามลำดับ โดยเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อไปถึงความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการสร้างความเข้าใจ และเรียกคืนความเชื่อมั่นจากต่างประเทศนั้น พบว่า ร้อยละ 59.8 ระบุคิดว่านายกรัฐมนตรีมีความพยายามมากพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 40.2 ระบุคิดว่าควรพยายามมากกว่านี้และให้คะแนนความพยายามเฉลี่ยเท่ากับ 8.34 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามแกนนำชุมชนโดยให้จัดอันดับประเทศที่เห็นว่ามีความจริงใจกับประเทศไทยในการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศ ผลการสำรวจพบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (ร้อยละ 31.4) รองลงมาคือประเทศจีน (ร้อยละ 29.5) ประเทศลาว (ร้อยละ 11.7) ประเทศเมียนมาร์ (ร้อยละ 8.9) ประเทศสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 5.4) ประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ 4.2) ประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 1.8) และประเทศอื่นๆ อาทิ อังกฤษ เวียดนาม เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์ กัมพูชา (ร้อยละ 7.1) ตามลำดับ และเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึงความพยายามของ คสช. รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนนั้น พบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้คะแนนความพยายามเฉลี่ย 8.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รัฐบาล ได้คะแนนความพยายามเฉลี่ย 8.48 คะแนน ในขณะที่พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้คะแนนความพยายามเฉลี่ยเท่ากับ 8.77 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน นอกจากนี้เมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึงความพร้อมในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และ คสช.ในการพัฒนาประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 94.7 ระบุพร้อมให้ความร่วมมือ โดยที่มีเพียงร้อยละ 5.3 เท่านั้นที่ระบุยังไม่พร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ในกลุ่มที่พร้อมให้ความร่วมมือระบุว่าพร้อมที่จะช่วยสร้างความสามัคคีให้กับชาวบ้านในชุมชน ร่วมพัฒนาชุมชน ทำตามนโยบายของรัฐบาล ช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มที่ยังไม่พร้อมให้ความร่วมมือระบุเป็นเพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์/ไม่รู้จะเปลี่ยนผู้นำอีกเมื่อไหร่ /ยังไม่เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจน ไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน เป็นต้น ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ ก็คือเมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อกรณี “คนไทยควรที่จะยอมรับประชาธิปไตยแบบไทยๆ มากกว่าการพยายามเลียนแบบประชาธิปไตยของต่างประเทศ” นั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 89.5 ระบุเห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เพราะวิถีการดำเนินชีวิตและขนบธรรมเนียบประเพณีวัฒนธรรมแตกต่างกัน /เรามีวัฒนธรรมของเราเอง /ควรใช้ให้เหมาะสมกับความเป็นไทย /ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งโลก ในขณะที่ร้อยละ 10.5 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะเราต้องเปิดใจกว้าง/ต้องเรียนรู้จากต่างประเทศด้วย /เป็นการปิดหูปิดตา ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึงความสำคัญของสื่อมวลชนในการร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อส่งเสริมความสามัคคีและสร้างบรรยากาศปรองดองของคนในชาตินั้น พบว่า ตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 64.6 เห็นว่าสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก-มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 8.6 ระบุค่อนข้างน้อย ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 1.6 ที่เห็นว่าสื่อมวลชนมีความสำคัญน้อย-ไม่มีสำคัญเลย
แท็ก community   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ