กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
บทความสุขภาพ
เคล็ดลับดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35+
โดย นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล
แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ในเดือนที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความรัก แต่คงไม่มีรักใดที่ยิ่งใหญ่เท่ารักของ ”แม่” ที่มีต่อ “ลูกน้อย” เพราะตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ได้ใกล้ชิดกับลูกน้อยราวกับเป็นคนคนเดียวกัน ในขณะที่คุณแม่จำนวนไม่น้อย เคยผ่านประสบการณ์ตั้งครรภ์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์
นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับคุณแม่อายุตั้งแต่ 35-40 ปี ที่ตั้งครรภ์นั้น ในมุมมองของแพทย์เป็นการตั้งครรภ์ภายใต้ภาวะความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว โรคที่พบมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ คือ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภาวะแฝงที่มาจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในปัจจุบันที่มักเครียดกับการทำงาน และละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย โดยหารู้ไม่ว่ามีผลต่อลูกในครรภ์ ซึ่งช่วงระยะเวลา 9 เดือนของอายุครรภ์เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ เพราะถ้าคุมไม่ดีมีโอกาสที่ครรภ์เป็นพิษ ส่งผลให้เด็กตัวเล็กและคลอดก่อนกำหนด ส่วนโรคเบาหวานถ้าคุมไม่ดีจะทำให้การเจริญเติบโตของท่อประสาท และกะโหลกศีรษะไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กที่คลอดออกมาไม่มีกะโหลกศีรษะ หรือไขสันหลังมีรู ในขณะที่มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ตั้งครรภ์โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม โดยโรคทางกรรมพันธุ์ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่สามารถส่งต่อความผิดปกติของยีนไปแสดงออกที่ลูกได้เช่นกัน คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว และตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก มีโอกาสเสี่ยงท้องนอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ เพราะความผิดปกติของรกทำให้เด็กในครรภ์เจริญเติบโตช้า” นพ.ร่มไทรกล่าว นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ควรรีบมาพบแพทย์ในทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่อยู่ในปัจจัยเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ
ซึ่งการวินิจฉัยความผิดปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำได้ 3 วิธี คือ ตรวจเนื้อรกในช่วง 11-13 สัปดาห์ การเจาะน้ำคร่ำ 16-20 สัปดาห์ และเจาะเลือดสายสะดือทารกในช่วง 20-22 สัปดาห์ เพื่อดูโครโมโซม โรคบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม หรือดูการติดเชื้อทารกในครรภ์ ซึ่งแต่ละวิธีมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรที่แตกต่างกันไป แต่หากตรวจวินิจฉัยแล้วรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะสามารถคาดการณ์ถึงความเสี่ยง และวางแผนการคลอดได้อย่างเหมาะสม
“การตรวจครรภ์จะทำให้รู้ว่าตำแหน่งการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ รวมถึงกำหนดวันคลอดที่แน่นอน เพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น หลีกเลี่ยงการผ่าคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดช้าเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์”
เทคนิคดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์สำหรับคนใกล้ชิดอย่างคุณพ่อ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ให้ความรักและดูแลคุณแม่ได้ดีที่สุด เพราะการตั้งครรภ์นับเป็นภาวะเครียดอย่างหนึ่งของชีวิต ร่างกายของคุณแม่จะลดภูมิต้านทานของตัวเองลง เพื่อไม่ให้ต้านทานลูกที่เสมือนสิ่งแปลกปลอมที่เพิ่มขึ้นมา คุณแม่ตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมสูง เช่น เชื้อไวรัส (Cytomegalovirus : CMV) ที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเป็นพาหะ โดยเชื้อชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์อาจทำให้หูหนวกตาบอดได้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสน้ำลายเด็กเล็ก หรือล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสารคัดหลั่งจากเด็กอ่อน ซึ่งมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ คุณพ่อควรดูแลคุณแม่ ด้วยการให้ทานโฟลิคเสริมในปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรได้รับโฟลิคอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม หรือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน โดยโฟลิคนั้นหาได้ในผักใบเขียวต่างๆ เช่น ผักขม ผักคะน้า ฟักทอง แครอท ข้าวกล้อง ข้าวโฮลวีท และถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้ง ควรหลีกเลี่ยงไม่ทานเนื้อดิบ หรือคลุกคลีสัตว์เลี้ยง เช่น แมว เพื่อลดความเสี่ยงจากพยาธิท๊อกโซพลาสม่าที่สามารถผ่านรกเข้าไปฝังตัวอยู่ในสมองเด็ก ทำให้เด็กมีศีรษะโตผิดปกติและตาบอดได้
แม้สารเคมีในชีวิตประจำวันอย่าง ยาย้อมผม ยาแก้สิว จะไม่มีผลต่อแม่และเด็กมากนัก เพราะซึมผ่านทางกระแสเลือดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับยา แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะแม้สารเคมีที่ใช้จะอยู่ในปริมาณที่น้อยมากแต่หากร่างกายได้รับสะสมต่อเนื่อง ผลที่ตามมาก็ไม่อาจคาดเดาได้ สำหรับยาที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ยารักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรอบซาวน่า หรือแช่น้ำร้อนในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะความร้อนมีผลต่อเซลล์ประสาทเด็กที่ยังสร้างไม่สมบูรณ์ ทำให้ท่อประสาทและกะโหลกศีรษะไม่ปิด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ สูตินรีแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ร่วมกันวางแผนการรักษาร่วมกับทีมแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ อาทิ แพทย์ด้านโรคหัวใจทารกในครรภ์ กุมารแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิด เพื่อดูแลทารกในครรภ์และสุขภาพมารดา โดยใช้เทคโนโลยีการแพทย์ในการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ อาทิ ใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ 4มิติ ซึ่งให้ภาพเคลื่อนไหวที่มีความคมชัดสูงสามารถบอกความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ และสามารถยืนยันผลการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ 3 มิติ เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งต่างๆ ของอวัยวะทารกในครรภ์ เช่น ดูการทำงานของลิ้นหัวใจ เพื่อตรวจภาวะลิ้นหัวใจรั่ว รวมถึงเครื่อง Fetal echo หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็กในครรภ์เพื่อวินิจฉัยความพิการแต่กำเนิด โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถใช้วางแผนวิธีการคลอด และช่วงเวลาในการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70