กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยบทวิเคราะห์ แนวโน้มราคาน้ำมันดิ่งต่ำ ส่งผลต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรลด ระบุ ราคาน้ำมันลดลงร้อยละ 1 ดึงผลผลิตรวมเศรษฐกิจมหภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.018 สู่โอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้นตามไปด้วย
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันลดลงอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากราคาสูงกว่า 100ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 62.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม 2557 ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่ง สศก. ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มลดลง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ความเฟื่องฟูของการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆของโลก อุปสงค์หรือความต้องการซื้อน้ำมันที่ลดลงในหลายประเทศ และความก้าวหน้าของประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ ซึ่งระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จะมีผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรหลายประเภทลดลง ในเบื้องต้นคาดว่าต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรปรับตัวลดลงซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้น ไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการต่อไป
ขณะที่รายงานจากมอร์แกน สแตนเลย์ มีการระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในระยะสั้นๆ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและไม่ยั่งยืน เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันมิใช่จุดต่ำสุดของตลาด ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันจะเป็นความเคลื่อนไหวเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยหลักหลายอย่าง เช่น การปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐ ผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกอย่างกลุ่มโอเปกยังคงกำลังการผลิตเท่าเดิม และปัจจัยอื่นๆ เป็นต้น ที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงไปได้อีก
ดังนั้น การวิเคราะห์ของ สศก. ในครั้งนี้ จึงตั้งสมมติฐาน ให้แนวโน้มระดับราคาน้ำมันลดลงจากระดับราคาน้ำมัน 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรล (เฉลี่ยเมื่อเดือน ตุลาคม 2557) มาจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณีคือ
1.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.505 โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 3.586 และต่ำสุดเพียงร้อยละ 0.146
2.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.257 โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 5.378 และต่ำสุดเพียงร้อยละ 0.219
3.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาเรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.010 โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 7.171 และต่ำสุดเพียงร้อยละ 0.292
จะเห็นได้ว่าหากระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จะมีผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลงเช่นเดียวกัน (คำนวณจากต้นทุนเฉลี่ยสินค้าเกษตร 10 สาขาการผลิตสำคัญ) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้น นำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและ/หรือนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการให้มากขึ้นต่อไป
สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 รายการ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและผลไม้ จะพบว่า เมื่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลดลง จึงส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้น และเมื่อการผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น จะก่อให้เกิดการปรับปรุงสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการจ้างแรงงานภาคเกษตรมากขึ้น ดังนี้ โดยเมื่อพิจารณาแต่ละสินค้า พบว่า
ข้าว เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวนาปี จากจำนวนการผลิตข้าว 27.1 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28.2 ล้านตัน
มันสำปะหลัง เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวนาปี จากจำนวนการผลิตมันสำปะหลัง 30.0 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 ล้านตัน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากจำนวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.8 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 ล้านตัน
ยางพารา เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตยางพารา จากจำนวนการผลิตข้าว 4.41 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.43 ล้านตัน
ปาล์มน้ำมัน เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมัน จากจำนวนการผลิตข้าว 12.5 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.2 ล้านตัน
ผลไม้(เงาะ) เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตเงาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตเงาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ปริมาณการผลิตเงาะ จากจำนวนการผลิตข้าว 0.32 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.33 ล้านตัน
ทั้งนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันลดลง จะส่งผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้น นำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและ/หรือนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการให้มากขึ้น จะทำให้ผลผลิตรวมทางการเกษตรในระดับเศรษฐกิจมหภาคทางการเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.018 เมื่อระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 1 หากแนวโน้มระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลง จะทำให้ผลผลิตเศรษฐกิจมหภาคทางการเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นนั่นเอง สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรรายสาขา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและผลไม้ จะพบว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลดลง จึงส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้นตามไปด้วย