กรุงเทพ--5 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคติดต่อ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ดำเนินการจัดทำโครงการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย
นพ.นรา นาควัฒนานุกูล รองอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังการประชุมเรื่องการดำเนินงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าว่า ในปี 2541 นี้ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เตรียมโครงการใหญ่กำจัดโรคพิษสุนัขบ้า โครงการดังกล่าวจะเป็นในรูปแบบ ส่งเสริม ป้องกัน และสนับสนุน การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วมกันทั้ง 3 กระทรวง ในโครงการการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าปี 2538 - 2543 นั้น สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต ด้วยโรคพิษสุนัขบ้าลงจาก 93 ราย ในปี 2537 เหลือ 77 ราย ในปี 2539 ซึ่งการดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จะต้องมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนให้สุนัขให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อรองรับนโยบายของแผนพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติฉบับที่ 8 (2540 - 2544) ซึ่งได้กำหนดให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าลงเหลือไม่เกิน 40 ราย ต่อปี
เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรง เมื่อป่วยแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ต่อไป จึงมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 - 31 มีนาคม 2541 เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนให้สุนัข และนำสุนัขมารับการฉีดวัคซีน ตลอดจนสุนัขที่ไม่ได้รับการดูแลจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย
นอกจากนี้ ปัญหาในการปฏิบัติงานบางประการในระดับผู้ปฏิบัติงาน จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุน ชี้แนะและแก้ไขร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน การนิเทศงานจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีผลทำให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสพบ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการปฏิบัติงาน จึงมีความเห็นชอบร่วมกัน จัดทำโครงการนิเทศงานผสมผสานเพื่อเร่งรัดการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าของ กรมควบคุมโรคติดต่อ กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง ประจำปี 2541 ขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรค เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเน้นเพิ่มความครอบคลุมให้ทั่วถึงหน่วยงานระดับจังหวัดทุกจังหวัด และยึดหลักความประหยัดตามสภาพเศรษฐกิจด้วย
นพ.นรา กล่าวต่อไปว่า จากเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าว ทำให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการหากแนวทางทุกวิถีทาง เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ผลอย่างเต็มที่ จึงเกิดโครงการร่วมอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการประกวดผลการดำเนินงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่นระดับจังหวัดเพื่อเป็นการกระตุ้นและแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติงานอย่างจริงจังทุกกิจกรรม และให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ประสานความร่วมมือทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย--จบ--