กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
บทความมูลนิธิสยามกัมมาจล
จ.น่าน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงอันดับ 2 ของประเทศ ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ลาดชั้นสูง (ที่มา : ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี งานวิจัยปี 2557)
จากข้อมูลข้างต้นนี้ ทำให้คนเมืองน่านเกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ จึงได้มีการ “ปลุกกระแส”ให้”เยาวชน” ตื่นตัว โดยสนับสนุนให้เยาวชนจัดทำโครงงานต่างๆ เพื่อเป็น “ตัวช่วย” ผู้ใหญ่ทำงานด้านการอนุรักษ์ให้ป่าฟื้นคืนมาและเป็นการฝึกฝนเยาวชนด้านการอนุรักษ์อีกทางหนึ่งด้วย โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มุ่งให้เยาวชนเมืองน่านเกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด ในการที่เยาวชนได้ทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องป่า จะเป็นประโยชน์ในการนำ “ข้อมูล” ที่ได้ไปเสริมข้อมูลเกี่ยวกับป่าให้กับ “ผู้ใหญ่” ได้นำไปจัดทำข้อมูลป่าชุมชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ป่าชุมชนต่อไป ทางโครงการฯ จึงเห็นประโยชน์ในการเติมความรู้ “เครื่องมือการเรียนรู้ป่าแบบง่าย ๆ” มีการจัด“อบรมการสำรวจและประเมินสภาพป่าอย่างง่าย” เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการสำรวจและประเมินสภาพป่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ป่าชุมชนบ้านหัวนา ขนาด 378 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน เป็นป่าฟื้นฟู ปัจจุบันเป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน เก็บหน่อไม้ ผักหวานฯลฯ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเหล่าเยาวชนในครั้งนี้ โดยมีน.ส.สุภา ภรณ์ ปันวาร และนายวุฒิพงษ์ นาคสกุล นักวิชาการอิสระด้านป่าไม้ มาให้ความรู้แบบเต็มอิ่มสองวันเต็ม ทั้งความรู้ในลักษณะการบรรยายทีละขั้นทีละตอนในห้องเรียนและพาลงพื้นที่เรียนรู้จริงในป่าชุมชน หลังเรียนทฤษฏีแล้ว เยาวชนมาพร้อมกันที่ทำการหน่วยต้นน้ำป่าชุมชนบ้านหัวนา เพื่อฝึกเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยมีการแบ่งออกเป็น 2กลุ่มย่อย แบ่งเป็นกลุ่มสามเณร และเยาวชนทั่วไป โดยมีนายปั๋น จ๋อมพันธ์ ผู้รู้พันธุ์ไม้และพื้นที่ป่าไปร่วมให้ความรู้เรื่องพืชสมุนไพร กับชนิดของต้นไม้กับเด็กๆ ด้วย การเข้าป่าครั้งนี้ ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีสำรวจป่าแบบถูกต้อง โดยเด็กๆ ได้ลองทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการวัดแปลง การจดบันทึก การวัดขนาดต้นไม้ ฯลฯ เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจสอบถามพี่ๆ นักวิชาการกันลั่นป่า ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ทั้งสนุกสนานและ มีเสียงบ่นคัน คัน จากการเดินลุยป่ากันนั่นเอง
หลังสำรวจป่าเสร็จเรียบร้อย ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “น.ส.สุภาภรณ์ ปันวาร”นักวิชาการอิสระ ถึงการที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ครั้งนี้มีประโยชน์อะไร เจ้าตัวอธิบายว่า “การมาสำรวจป่าครั้งนี้ อย่างน้อยทำให้เด็กๆ ได้รู้จักชนิดต้นไม้และรู้จักป่ากันมากขึ้น ใครที่ยังไม่เคยไปเดินป่าจะได้ไปรู้จักป่าบ้านตนเอง เด็กๆ จะมีข้อมูลที่เป็นหลักวิชาการเพิ่มขึ้น และจะได้เอาไปช่วยผู้ใหญ่ในแง่ของการเอาไปพูดคุย บอกสภาพป่าว่าเป็นอย่างไร คิดว่าสภาพป่ามันดี แต่ว่าอะไรจะมาช่วยชี้วัดว่าอะไรมันดีหรือว่าบางทีเขารู้สึกว่าเอ๊ะ.ป่าเสื่อมโทรมหรือเปล่า แต่ว่าบางทีมันอาจจะเป็นประเภทของป่า เช่น ป่าเต็งรัง สภาพหรือมีหินโผล่อย่างนี้ คือสภาพของมันที่มันเป็นแบบนั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ในกรณีที่ชุมชน เยาวชน อยากจะไปจัดกิจกรรมบวชป่า ไปปลูกป่า บางทีถ้าเขารู้ก่อนว่าพืชท้องถิ่นในพื้นที่มันมีอะไร และเขาสามารถไปเก็บเมล็ดพันธุ์ในนั้นไปเพาะ หรือไปขอชนิดพันธุ์ที่มันตรงกันก็จะช่วยเรื่องฟื้นฟูป่าได้มากขึ้น หรือการบวชป่า เขาสามารถไปบวชกับต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญในเชิงของการเป็นแม่ไม้ ถ้ามีความรู้เหล่านี้ก็จะได้รักษาต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ไว้ แต่การสำรวจป่าที่สำคัญเยาวชนต้องมีผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านร่วมกิจกรรมด้วย เพราะผู้ใหญ่จะรู้เรื่องพันธ์ไม้ได้ช่วยสอนเยาวชนได้ ผลพลอยได้การที่ตัวเยาวชนและผู้ใหญ่ได้มีโอกาสได้คุยกัน จะเป็นการการถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ไปสู่เด็กด้วย ก็อยากจะฝากไว้กับเยาวชนที่ทำโครงการเกี่ยวกับป่า อยากให้ลองลงมือทำ ค้นดูว่าเราทำไปแล้วมันมีเครื่องมืออะไรที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้มันง่ายขึ้น ความสำคัญจริงๆ อยู่ที่อยากให้รู้จักตัวป่าของเราเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง”
พระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน ในฐานะผู้ใหญ่ใจดีที่หนุนโครงการนี้เผยการหนุนการอบรมครั้งนี้ว่า “เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกของเขาว่าป่ามีความสำคัญกับเขาแบบไหนบ้างทั้งเรื่องน้ำ เรื่องสุขภาพ เรื่องของอาหาร และเรื่องของเชิงสังคม เด็กก็จะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ องค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาที่เขาจะต้องสืบสาน เราเริ่มเห็นเยาวชนบางคนเริ่มที่จะแสดงความเป็นตัวตนว่าของเราต้องเป็นแบบนี้นะ เราจะต้องสืบทอด เราจะต้องดูแลรักษา ไม่ได้บอกว่าเยาวชนร้อยคนต้องทำร้อยคนไม่ใช่ เห็นโผล่มาสักห้าคนสิบคนนี่ มันถือกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่คนยุคนี้ เด็กมาช่วยผู้ใหญ่ ในเรื่องการผสมผสานระบบคิด ช่วงของจังหวะที่เขาได้เรียนรู้กับองค์ความรู้และภูมิปัญญาเดิมเขาก็จะรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ ทำสื่อที่เขาถนัดบอกเล่าเรื่องนี้ผ่านสื่อให้คนที่ไม่รู้จักน่านเห็น เคยมองน่านเป็นภาพหนึ่ง ก็เห็นน่านเป็นอีกภาพหนึ่ง พระอาจารย์คิดว่ามันเป็นความงดงามของความผสมผสานของคนระหว่างรุ่นต่อรุ่น เมื่อก่อนในสายตาผู้ใหญ่เราอาจจะบอกว่าคบกับเด็กพวกนี้ไม่ได้เรื่องไม่เหมือนกับสมัยเรา แต่เห็นพฤติกรรมการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเยาวชนกลุ่มที่ทำงานด้วย ผู้ใหญ่เริ่มมีความหวังว่าจะมีโอกาสในการที่จะสืบทอดในรุ่นต่อๆ ไป เพราะมีคนมาต่อยอด นำไปผสมผสานในยุคสมัยต่อๆ ไป”
สุดท้ายเยาวชนได้ร่วมกันสะท้อนการเรียนรู้ครั้งนี้ว่า จะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับโครงการของตนอย่างไรบ้าง “จะนำวิธีการสำรวจป่าไปสำรวจพื้นที่ที่จะทำฝาย และจะนำหลักการ ทั้งการจดบันทึกข้อมูล นำการคำนวณความหนาแน่นของต้นไม้ในพื้นที่ ฯลฯ และสุดท้ายจะนำข้อมูลจากการสำรวจป่าและทรัพยากรไปนำเสนอในที่ประชุมในชุมชนให้ได้เห็นคุณค่าของป่าและหาแนวทางฟื้นฟูป่าต่อไป”
มีกลุ่มเยาวชนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องป่าเข้าร่วมดังนี้ 1. โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำ กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนา 2.โครงการปลูกผักพันธุกรรมพื้นบ้าน กลุ่มเยาวชนห้วยหมี 3.โครงการสร้างฝ้าย สร้างบารมี กลุ่มโรงเรียนวัดบ่อหลวง และ 4.โครงการอนุรักษ์การบวชป่า กลุ่มสามเณรโรงเรียนวัดปรางค์ และมีเยาวชนโรงเรียนบ้านป่าแดด จำนวน 10 พร้อมผู้ใหญ่ในพื้นที่ร่วมเรียนรู้ด้วย สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2558 ที่โรงเรียนบ้านป่าแดดและป่าชุมชนบ้านหัวนา อ.สันติสุข จ.น่าน
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เมืองน่าน รณรงค์ผ่านมาหลายสิบปีแต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากนัก วันนี้ “ผู้ใหญ่” ฝากความหวังนี้ไว้ให้กับเยาวชนโดยเสริมความรู้ให้เต็มพิกัด เพื่อที่เยาวชนจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีองค์ความรู้ที่แท้จริงและนำความรู้นี้ไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
https://www.dropbox.com/sh/ff21g6yo2puvbhl/AACFPUTNOJUF6V1IYUnic5T6a?dl=0