กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--นานมีบุ๊คส์
สำนักพิมพ์เอโนเวล ในเครือนานมีบุ๊คส์ จัดพิมพ์หนังสือ “ลมหายใจที่ขาดห้วง” เขียนโดย แฮร์ทา มึลเลอร์ นักเขียนชาวโรมาเนียเชื้อสายเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 2009 วรรณกรรมแนวสะท้อนภาพสังคมอย่างเข้มข้น หยิบยกประเด็นที่ว่า ไม่ใช่เพียงชาวยิวที่ถูกทรมานและฆ่าในค่ายกักกันนาซี แต่ชาวเยอรมันและประเทศสมาชิกที่แพ้สงครามเองก็ได้รับผลเลวร้ายพอกัน
ลมหายใจที่ขาดห้วง ได้รับทุนการสนับสนุนการแปลจากสถาบันเกอเธ่ ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศเยอรมนี และจากมูลนิธิอื่นๆ อีกมากมาย
ดร.อันเดรีย เซลล์ ที่ปรึกษาทางด้านการศึกษาและวาทกรรม สถาบันเกอเธ่ เยอรมนี กล่าวว่า “สถาบันเกอเธ่มีหน้าที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อีกทั้งเชื่อว่าหนังสือจะเป็นเหมือนสะพานที่จะเชื่อมวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งแฮร์ทา มึลเลอร์ นับเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในทศวรรษที่ 90 ไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะในเยอรมนีในเท่านั้น แต่มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป และพอแฮร์ทา มึลเลอร์ได้รับรางวัลโนเบล ในปีค.ศ. 2009 ก็ยิ่งดังเป็นพลุแตก ทางเกอเธ่ก็ได้รับเสียงเรียกร้องมากมายจากทั่วโลกในการแปลหนังสือของแฮร์ทา มึลเลอร์ รวมถึงเล่ม ลมหายใจที่ขาดห้วง นี้ด้วย”
“แม้ว่าลมหายใจที่ขาดห้วงเป็นหนังสือที่มีหัวข้อค่อนข้างหนัก แต่ที่ให้ความสำคัญกับหนังสือเล่มนี้ก็เพราะว่าเป็นหัวข้อที่ไม่ควรจะถูกลืม แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงไปแล้ว แต่ความโหดร้ายยังคงดำเนินต่อไปกับชาวเยอรมันในประเทศอื่นๆ รอบเยอรมนีที่มีคนเยอรมันเป็นคนส่วนน้อย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ และแฮร์ทา มึลเลอร์เขียนเรื่องนี้ขึ้นก็เพราะต้องการเขียนแทนคนที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้ เพราะคนที่ประสบเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่ยอมพูดถึงมันอีกเลย แต่แฮร์ทาต้องการเปิดเผยให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ และไม่อยากให้ถูกลืม รวมถึงต้องการให้มนุษยชาติจดจำเหตุการณ์เหล่านี้ไว้อีกหนึ่งเหตุการณ์ นอกเหนือจากเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ในช่วงสงครามโลกอีกด้วย”
อาจารีย์ สุทธิโรจน์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือบันเทิงคดี สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า “นานมีบุ๊คส์คิดเสมอว่าหนังสือผลงานนักเขียนรางวัลโนเบลเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญทั้งสำคัญต่อโลกและสำคัญต่อคนไทยด้วย เพราะคนไทยก็ควรได้รับรู้และได้อ่านหนังสือที่ดีแบบนี้”
“เดิมเรารู้กันมาตลอดว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีทรมานคนยิวมากมายขนาดไหน แต่ลมหายใจที่ขาดห้วง ได้เปิดมุมมองใหม่ให้ผู้อ่านได้ทราบว่าไม่ใช่ว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะยุติลงเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความโหดร้ายยังคงดำเนินต่อไปสำหรับชาวเยอรมันในประเทศต่างๆ อย่างในหนังสือจะพูดถึงชาวโรมาเนียเชื้อสายเยอรมันที่ถูกส่งตัวไปอยู่ในค่ายเชลยในรัสเซีย แสดงให้เห็นว่าความเลวร้ายก็ตกไปอยู่ที่ชาวเยอรมันด้วยเช่นกัน แต่ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องว่าชาวเยอรมันก็ถูกทรมานเหมือนกัน แต่ต้องการเสนอประเด็นว่าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เนรเทศ หรือการถูกพลัดพรากจากประเทศตัวเองให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งจุดนี้เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้นานมีบุ๊คส์ต้องการตีพิมพ์ออกมาในฉบับภาษาไทย เพราะอยากให้คนไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์ของชาติอื่นเพื่อเรียนรู้และเข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเยอรมนีหรือในรัสเซีย แต่อาจจะเกิดกับเราคนไทยได้เช่นกันในสักวันหนึ่ง”
ผศ.ดร.อัญชลี โตพึ่งพงศ์ ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ผู้แปล) กล่าวว่า “ลมหายใจที่ขาดห้วงเป็นหนังสือที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์มาก ใช้บุคลาธิษฐานอย่างโดดเด่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ใช้ภาษาอย่างมีพลัง ใช้อย่างตั้งใจ ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร และตรงประเด็น อย่างเช่น ผู้เขียนกล้าที่จะเขียนเรื่องราวชีวิตของคนที่ถูกขังหรือถูกเกณฑ์ไปอยู่ในค่ายกักกันเชลย ซึ่งคนจะไม่ค่อยพูดถึง ส่วนใหญ่เราอยากจะลืม แต่ผู้เขียนกลับตั้งใจเขียนออกมาตรงๆ”
“ลมหายใจที่ขาดห้วง เล่าเรื่องราวของเด็กผู้ชายอายุ 17 ปีที่ถูกเกณฑ์ไปอยู่ในค่ายเชลย มีปัญหาหลายอย่าง และเมื่อไปอยู่ในค่ายก็ต้องประสบกับอารมณ์และภาวะที่กดดันอย่างมาก อย่างแรกคือเป็นรักร่วมเพศซึ่งบอกใครไม่ได้ สองคืออารมณ์คิดถึงบ้านแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้ สามคืออารมณ์หิว ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เด่นชัดมาก เขียนเอามาตีแผ่แบบน่าอ่านมาก คุณจะทึ่งว่านักเขียนเขียนได้อย่างไร ซึ่งในสังคมยุโรปจะมีความเชื่อว่าคนทุกคนจะมีทูตประจำตัวคอยปกปักษ์รักษาโดยเฉพาะในเด็ก แต่นักเขียนได้สมมุติให้มีทูตแห่งความหิวโหย คอยกดขี่ตัวเอก คอยสมน้ำหน้า คอยแกล้งอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทุรนทุรายซูบผอมลงไป ตัวอย่างตอนหนึ่งจากหนังสือดังนี้”
“ความหิวโหยมักจะอยู่ที่นั่นเสมอ และเพราะว่าอยู่ที่นั่น มันจึงมาเยี่ยมเยือนเราในเวลาที่มันปรารถนา และด้วยวิธีที่มันปรารถนา หลักการของเหตุและผลคืองานชั้นเลวของทูตแห่งความหิวโหย เมื่อไหร่ที่มา มันจะเข้ามาอย่างกราดเกรี้ยวรุนแรง นั่นเป็นกฎที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ยกพลั่วขึ้นหนึ่งครั้ง มีค่าเท่ากับขนมปังหนึ่งกรัม”
การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวเอกช่วยทำให้สัมผัสและแตะอารมณ์ของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นตอนบรรยายอาการหิว หรืออารมณ์คิดถึงบ้านก็จะบรรยายอย่างประชดประชัน หรืออารมณ์เหงาที่ถูกทอดทิ้งเป็นคนนอกของสังคมก็ถ่ายทอดได้อย่างดี
และสิ่งที่ท้าทายในการแปลเรื่องนี้ที่สุด คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งต้องแปลจากภาษาเยอรมัน ตัวอย่างเช่น
“ความต่ำต้อยที่แสนภาคภูมิ ความปรารถนาอันน่าหวาดกลัว ความเร่งรีบอย่างไม่เต็มใจ ผมก้าวกระโดดจากศูนย์ไปถึงร้อยเลย การยอมอ่อนข้ออย่างแข็งขืน ผมถือเสียว่าทุกคนพูดถูก เพื่อจะใช้สิ่งนี้กล่าวโทษพวกเขาได้”
Neal Ascherson, The New York Review of Books-“เป็นผลงานวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมและลึกซึ้ง แฮร์ทา มึลเลอร์เป็นนักเขียนที่ปลดปล่อยพลังของอารมณ์ผ่านร้อยแก้วที่ซับซ้อน ทำให้เห็นภาพ และแสดงความรู้สึกให้เห็นบ่อยครั้ง”
Financial Times-“หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่หนังสือที่ดี แต่เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยม...มึลเลอร์เป็นนักออกแบบผู้ถี่ถ้วน เธอเขียนนวนิยายโดยใช้ภาษาเยอรมันที่สละสลวย งดงาม ซึ่งแบ่งเป็นย่อหน้าที่เข้มข้น...ถือเป็นผลงานชิ้นเอกทีเดียว”
New Yorker-“เป็นงานร้อยแก้วที่ใช้ภาษากระชับ มีเสน่ห์...วิจิตรบรรจง”
Frankfurter Allgemeine Zeitung-“เป็นนวิยายที่แสนพิเศษ เร้าอารมณ์ และเรียบง่าย”
ร่วมกันตระหนึกถึงปัญญาของสงครามโลกผ่านนวนิยายชีวิตรางวัลโนเบล กับ “ลมหายใจที่ขาดห้วง” ราคาเล่มละ 265 บาท จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ วางจำหน่ายที่ร้านแว่นแก้ว ร้านนานมีบุ๊คส์ช็อป และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสอบถามที่ Nanmeebooks Call Center 02-662-3000 กด 1 www.nanmeebooks.com และwww.facebook.com/nanmeebooksfan