สวช. ฝึกอบรมแกนนำสภาวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข่าวทั่วไป Friday August 6, 1999 13:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--6 ส.ค.--สวช.
“วัฒนธรรมเป็นของประชาชน ดังนั้นผู้ที่จะสามารถรักษาสืบทอดวัฒนธรรมได้ดีที่สุด คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น” ประโยคนี้ดูเหมือนจะดีที่สุดในการใช้เป็นแนวทางในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าคนในพื้นที่เท่านั้นที่รู้จักวัฒนธรรมของตนเองได้ดีกว่าคนอื่น ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาต (สวช.) จึงได้เร่งมือในการทำให้คนในชุมชนร่วมมือกันในการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนของเขาเอง โดยได้ประสานงานกับทางสภาวัฒนธรรมจังหวัด ในการฝึกอบรมแกนนำในชุมชนในการรักษาวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น เพื่อจะได้ขยายผลต่อไปยังสมาชิกทุกคนที่อาศัยอยู่ในชุมชน
ชุมชนบ้านโคกโก่ง
การไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมแกนนำของ ชุมชนบ้านโคกโก่ง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ทำให้เห็นว่าท้องถิ่นนี้มีอะไรหลายอย่างที่จำเป็นต้องนุรักษ์ไว้ เพราะชุมชนบ้านโคกโก่งเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่ยังคงความบริสุทธิ์ไว้มาก วิถีชีวิตส่วนใหญ่ยังไม่ถูกครอบงำจากภายนอก สามารถอนุรักษ์ขนบธรรมเนียบประเพณีแบบดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งภาษาพูด และการแต่งกาย อาหาร ศิลปะการแสดง
บ้านโคกโก่งจัดเป็นหมู่บ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนกับชาวบ้าน (Home Stay) เนื่องจากมีจุดเด่นในเรื่องวัฒนธรรม และมีทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เช่น น้ำตก และลานลื่นไถล (Slider) เป็นลานหินลาดลงเวลามีน้ำจะทำให้ลื่นไถลได้ การส่งเสริมวัฒนธรรมในชุมชนนี้จึงเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นอกจากมีธรรมชาติที่ชุมชนอนุรักษ์ไว้แล้ว และสามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีวัฒนํธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจและที่โดดเด่นมากคือความสามัคคีกลมเกลียวของสมาชิกในชุมชน มีความเป็นปึกแผ่นแน่แฟ้น ความเป็นอยู่เป็นแบบเครือญาติมีความผูกพันเอื้ออาทรกันอย่างดียิ่ง ความมีน้ำใจเอื้ออาทรในชุมชนเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาพักมาเยือน ชาวบ้านจะให้ความสนใจเอาใจใส่ดูแลและบริการด้วยอัธยาศัยอันดีงาม ติดตาม แนะนำดูแล พาชมสถานที่ต่าง ๆ พาใส่บาตรพระในตอนเช้า อำนวยความสะดวกจนกระทั่งแขกเดินทางกลับ
ความเป็นมาของชุมชนบ้านโคกโก่ง
“ผู้ไทย” เป็นชุมชนหนึ่งที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ เคลื่อนย้ายลงมาผ่านเวียตนามและลาวแล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางภาคอีสานของไทย และส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ในหลายอำเภอ ชาวผู้ไทยเป็นผู้ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หมู่บ้านผู้ไทยในจังหวัดกาฬสินธุ์จะมีให้เห็นอย่างมากมาย แต่ที่เห็นเด่นชัดและมีขนบธรรมเนียมประเพณีสืบเนื่องโดยตลอดนั้นคือ หมู่บ้านโคกโก่ง บ้านวังมน และบ้านห้วยม่วง ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ในด้านความเชื่อของคนในชุมชนก็มีอยู่มากมายหลายอย่างด้วยกัน โดยจะเป็นการบูชาภูตผีเสียเป็นส่วนใหญ่อย่างแรกเช่น
“ผีฟ้า” ชาวผู้ไทยจะเคร่งครัดและนับถือ “ผีฟ้า” เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลาผู้คนภายในหมู่บ้านเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะให้แม่จ่ำหรือ “ร่างทรง” มาทำพิธีกรรมพร้อมกับได้ฟ้อนรำอย่างสวยงามเป็นการอัญเชิญฝีให้นั้น ก็ปฏิบัติกันเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้านหรือผู้ที่ถูกสิงออกไป
“เลี้ยงผีเชื้อ” เป็นความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีความเชื่อวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงเฝ้าดูแลรักษาคนในวงศ์ตระกูลอยู่เสมอ ดังนั้นทุกคนในตระกูลจะต้องการกระทำความดี คือ รักใคร่ กลมเกลียวกัน สามัคคีกัน ด้วยความรำลึกถึงบรรพบุรุษนี้ จึงมีการรวมกันในวงญาติจัดงานรื่นเริงเพื่อขอบคุณดวงวิญญาณและเชิญดวงวิญญาณมากินอาหารที่นำมาเช่นไหว้นั้นมาคุ้มครองปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ดังมีปรากฎในฮีตสิบสองว่า “เป็นท้าวเป็นพระยา เมื่อถึงเดือนเจ็ดให้บูชาเทพดาอารักษ์มเหสักข์หลักเมือง หูเมือง ตาเมือง” เป็นต้น ผู้ที่นับถือมเหสักข์จึงต้องจัดให้มีพิธีเลี้ยงหอมเหสักข์ (คล้ายกับศาลปู่ตาในบางแห่ง) ปีละครั้งโดยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ไปจนถึงสิ้นเดือน 7 การเลี้ยงหอมเหสักข์จัดขึ้นเพื่อขอพรให้วิญญาณของมเหสักข์คุ้มครองดูแลลูกหลานบ้านเมืองนั้นเอง โดยจะมีนางเทียมหรือคนทรงแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเรียบร้อย แล้วร่ายรำตามทำนองเพลงที่ประโคมประกอบพิธีพร้อมกับจัดเหล้าขาว ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องเซ่นไหว้ถะหลาที่ชาวผู้ไทยนำมาไหว้ขอพรจากถะหลาผ่านทางนางเทียมหรือคนทรงองค์พระมเหสักข์
ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของชนเผ่าภูไทยจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย สู่ลูกหลานได้ในทุกเรื่องทุกครอบครัวมีความรักสามัคคีเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็ก ๆ อยู่ในโอวาทและสามารถเรียนรู้จากภูมิปัญญาขอวชาวบ้านได้ทุกเรื่อง การอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านเป็นแบบอย่างอันดีในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน และรู้รักสามัคคี--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ