กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ประดิษฐ์ N3-save Unit ขึ้นมาลดค่าไฟฟ้า
ดร.เกียรติศักดิ์ เล่าว่า หน้าที่ของ N3-save Unit คือตัวสร้างสภาวะอากาศทางบริเวณเข้าคอยล์ร้อนให้มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าสภาพอากาศปกติ โดยที่คอยล์ร้อนจะทำหน้าที่ระบายความร้อนของสารทำความเย็นด้วยการใช้อากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของคอยล์ร้อนไหลผ่านคอยล์เพื่อระบายความร้อนให้คอยล์ร้อน โดยที่สารทำความเย็นภายในคอยล์ร้อนจะมีอุณหภูมิประมาณ 40-42 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิของอากาศปกติมีอุณหภูมิ 32-37องศาเซลเซียส และจากการที่อุณหภูมิของอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อนมีค่าใกล้เคียงกับสารทำความเย็นในคอยล์ร้อน จะทำให้ระบายความร้อนออกจากเครื่องปรับอากาศได้น้อย ซึ่งตัว N3-Save Unit จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ ด้วยการที่ N3-Save Unit จะสร้างสภาวะอากาศก่อนเข้าคอยล์ให้มีอุณหภูมิต่ำเฉลี่ยที่ 25-28 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิระหว่างสารทำความเย็นในคอยล์ร้อนกับอากาศมากกว่าที่สภาวะอากาศปกติ ทำให้เกิดการระบายความร้อนที่คอยลล์ร้อนได้ดีขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องปรับอากาศ 30-40%
โครงสร้างหลักของ N3-save Unit ประกอบด้วย 1. ส่วนกักเก็บน้ำจากคอยล์เย็น ลักษณะเป็นถังรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำหน้าที่กักเก็บน้ำที่กลั่นจากกระบวนการควบแน่นที่คอยล์เย็น โดยมีท่อทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำเชื่อมต่อจากคอยล์เย็นลงสู่ส่วนกักเก็บน้ำ 2. ส่วนป้องกันน้ำระเหยออกจากถังเก็บ ลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความลาดเอียงจากขอบเข้าไปสู่ส่วนกลาง เมื่อน้ำระเหยกลายเป็นไอ จะลอยขึ้นด้านบนและไปติดอยู่ที่ส่วนป้องกันน้ำระเหย เมื่อมีการระเหยมากขึ้นน้ำด้านบนจะเกาะตัวกันเป็นหยดน้ำและไหลลงสู่ถังเก็บตามเดิม 3. ส่วนกรองน้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนกรองน้ำก่อนเข้าปั๊มน้ำ ลักษณะเป็นแผ่นใยแก้วรูปทรงติดอยู่บริเวณส่วนดูดน้ำของปั๊มน้ำ และส่วนกรองน้ำหลังผ่านม่านฝนจำลองก่อนเข้าถังกักเก็บน้ำ ลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำหน้าที่กรองสิ่งสกปรกที่ติดมากับน้ำหลังจากผ่านม่านฝนจำลองก่อนไหลเข้าสู่ส่วนกักเก็บน้ำ 4. ส่วนลำเลียงน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ปั๊มน้ำ ขนาดเล็ก 8-9 วัตต์ ถูกติดตั้งอยู่ในถังเก็บน้ำ และท่อน้ำ ทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำไปยังระบบต่างๆ ลักษณะของท่อมีความยืดหยุ่นโค้งงอได้เพื่อลดความดันตกคร่อมของน้ำในบริเวณทางโค้งของท่อ 5. ส่วนจ่ายน้ำ เป็นส่วนที่ต่อกับท่อลำเลียงน้ำ ลักษณะเป็นแผงหัวจ่ายเพื่อจ่ายน้ำไปยังส่วนของม่านฝนจำลอง 6. ส่วนของม่านฝนจำลอง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยส่วนกลางทำจากครีบอลูมิเนียม จัดวาง ในแนวนอน โดยทำเป็นมุมเอียงสลับฟันปลาเข้าหากัน เรียงจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง ในขณะที่น้ำไหลกระทบครีบแต่ละครีบจะเกิดการกระจายตัวของน้ำออกด้านข้างเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ของครีบ ทำให้เพิ่มพื้นผิวสัมผัสของน้ำกับอากาศได้ดีขึ้น ช่วยให้การถ่ายโอนความร้อนจากอากาศสู่น้ำได้มากขึ้น
จากการทดสอบเวลาในการลดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ขนาด 12000 BTU ที่ห้องขนาด 30 ตารางเมตร พบว่า เครื่องปรับอากาศที่ติดตั้ง N3-Save Unit จะใช้เวลาในการทำความเย็นให้ห้องน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้ติด N3-Save Unit เนื่องจากกระบวนการระบายความร้อนด้วยการลดอุณหภูมิของอากาศก่อนเข้าคอยล์ร้อนส่งผลต่ออุณหภูมิที่คอยล์เย็นทำให้มีอุณหภูมิที่คอยล์เย็นต่ำกว่าเครื่องปรับอากาศปกติ เมื่ออุณหภูมิห้องถึงค่าที่กำหนดเร็วขึ้นก็ย่อมส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานน้อยลงเนื่องจากระบบจะตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์เมื่ออุณหภูมิห้องถึงค่าที่กำหนด ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง และยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นเพิ่มขึ้น และเพิ่มค่า EERให้เครื่องปรับอากาศ ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์และนำมาใช้งานได้จริง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ โทร.0814932489