กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯสปช.อุบลฯลงมติเร่งการจัดทำเวทีฟังเสียงประชาชนให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายนเพื่อนำข้อมูลของชาวอุบลราชธานีนำเสนอต่อสภาฯให้ทันการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย ชี้ทุกเสียงคนอุบลฯต้องเข้าสู่สภาฯ
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 สปช.อุบลฯจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประจำจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 4/2558 ที่ห้องประชุมบุณฑริกา 1 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
นายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจ.อุบลราชธานี (สปช.อุบลฯ)ประธานในการประชุมกล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานีมีลักษณะพิเศษกว่าจังหวัดอื่นคือจะทำครบทั้งจังหวัด เรามี 25 อำเภอทำครบทุกอำเภอโดย สปช. จัด 10 เวทีระดับอำเภอ จัดรวมระดับจังหวัด อีก 1 เวที และทางจังหวัด โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสนับสนุน อีก 15 เวที รวมครบทั้ง 25 อำเภอ การรับฟังนั้นตนไม่อยากให้ทำเสร็จ ๆ ไปตามคำสั่งส่วนกลางเท่านั้น อยากให้รวบรวมข้อคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเข้าสู่สภาฯ โดยข้อมูลที่ได้จะใช้ในการประกอบทั้งด้านรัฐธรรมนูญและด้านปฎิรูปประเทศไทย ดังน้ันการรับฟังควรทำให้สอดคล้องกับงานสภาฯ หากอุบลฯยิ่งทำได้เร็ว เรื่องก็เข้าสู่สภาฯเร็ว นำไปใช้งานได้เร็ว
เนื่องจากในเดือนเมษายนจะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาฯ ดังนั้นหากมีเสียงสะท้อน,ความคิดเห็น ในเรื่องต่าง ๆ ของคนอุบลฯเข้าไปก่อน ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นข้อมูล ในการพิจารณาประกอบและอภิปรายของ สปช.ในการเสนออภิปราย ตามข้อมูลที่ได้รวบรวมมา ดังหลักที่ตนได้กล่าวมาหลายครั้งว่า สปช. ฟังเสียงประชาชนและนำความคิดเห็นของประชาชนเข้าสู่การพิจารณาได้ดีที่สุด หากช้ากว่านี้ ข้อมูลก็จะไม่ได้รับการพิจารณาการจัดเวทีแทบจะสูญเปล่า
สปช.อุบลฯ ถือว่าความคิดเห็นของประชาชนต้องเข้าถึงสภา วันนี้จึงขอปรับวิธีการับฟังใหม่ คือ ต้องเร็ว และทันการนำเสนอเพื่อประโยชน์สูงสุดของการออกมารับฟังประชาชน ทีมงานรับฟังต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า ทำให้เสร็จเร็วกว่าเดิมครึ่งหนึ่งเดิมกำหนดจะเสร็จในเดือนมิถุนายนย่นมาเป็นเดือนเมษายน 2558 และนัดทำเวทีใหญ่ 4 เมษายน ซึ่งเหมาะสมกับการพิจารณารัฐธรรมนูญพอดี หากมีเรื่องต้องอภิปราย สปช.อุบล ก็มีข้อมูลความเห็นของชาวอุบลฯพร้อม ทำหน้าแทนชาวอุบลฯและมั่นใจว่านี่คือความเห็นของชาวอุบล ที่มีทั้งข้อเท็จจริง และ หลักการทางวิชาการโดยเฉพาะสามประเด็นสำคัญ คือ มุมมองชาวอุบลฯ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง และกระบวนการได้มาซึ่งการเลือกตั้งที่บริสุทธิยุติธรรม การแก้ทุจริตคอรับชั่น การมองหนทางแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มี. หรือการมองอนาคตที่คนอุบลฯอยากเห็น
คนอุบล ทั้งจังหวัดหรือ ส่วนใหญ่ คิดเห็นเรื่องต่างๆ อย่างไรเรียกว่า วางยุทธศาสตร์การนำเสนออย่างเป็นระบบ นำ้หนักเรื่องจะแตกต่างจากเอาหนังสือไปยื่นมาก ๆ เพราะถือว่า เป็นข้อคิดเห็นรวม ไม่ใช่ความคิดส่วนตัว ดังนั้นการทำเสร็จปลายเดือน มีนาคม แล้วนำมารวมกันรับฟังระดับจังหวัดอีกครั้งจึงเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักมากอย่างไม่เคยมีการทำมาก่อน เดือนเมษายนจึงเป็นเวลาที่เหมาะ และดีที่สุดที่จะประกาศรอบแรกว่า คนอุบลฯ คิด มอง และเสนออะไร ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และ การปฎิรูป ที่คนอุบลฯ ตกลงเป็นฉันทามติว่าเรื่องดังต่อไปนี้ คนอุบล เห็นว่าสำคัญและอยากเสนอ
ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ลงมติเห็นชอบที่จะเร่งเวลาการจัดทำเวทีให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2558 และจัดตั้งคณะทำงานวางแผนการดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จในวันเวลาดังกล่าว โดยประธานในการประชุมได้ชื่นชมคณะอนุกรรมาธิการฯที่เสียสละเวลามาประชุมแม้เป็นวันหยุดและเสียสละเพื่อประเทศชาติในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่นี้