กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--คอร์แอนด์พีค
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกมาเตือนประชาชน เรื่องการนำสเต็มเซลล์มาใช้กับผู้บริโภค หลังจากกระแสการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อความงามและการชะลอวัย เริ่มกลับมาในหลายรูปแบบทั้งในสังคมโซเชียลมีเดีย สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เผยเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ได้จัดกิจกรรมพิเศษ “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “4 ทศวรรษพัฒนาความรู้ คู่ความปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกคนเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมงานสัมมนาฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายในวันที่ 6 มีนาคม นี้
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เตรียมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติและงานประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 40 ในระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นธาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ (Centara Grand at Central World Hotel ) ชั้น 22-23 โดยการจัดงานในครั้งนี้ ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษ “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” ในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 เวลา 10.30 -12.00 น. ณ ห้องโลตัส 1,2,3 และ 4 สำหรับประชาชนทั่วไป โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้สนใจ เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “4 ทศวรรษ พัฒนาความรู้ คู่ความปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกคน” โดยจะมีการให้ความรู้ทางด้านสาขาตจวิทยา(ผิวหนัง) บรรยายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังฯ เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อแต่งเสริมเติมแต่งความงามของร่างกาย โดยลำดับถึงการใช้นวัตกรรมความงามในยุคต่าง ๆ เช่น อันตรายของครีมหน้าขาวที่มีส่วนผสมจาก ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone), ผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ , การใช้ผลิตภัณฑ์ Whitening ที่ทำให้ผิวขาว , เครื่องสำอางปลอม และการเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านความงามจากการการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต, ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องมือ อาทิ เช่น การใช้เลเซอร์ ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ และร้อยไหม
นอกจากนี้ในปีนี้สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยยังร่วมกับ เวชสำอาง ลา โรช-โพเซย์ เตรียมจัดกิจกรรมมินิมาราธอนเดิน วิ่งการกุศล RUN AGAINST UV With Highest Sun Protection ซึ่งจะขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2558 ณ สวนเบญจกิตติ เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. โดยกิจกรรมนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดีและเพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากกิจกรรม มอบให้กับสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ในการนำไปใช้ด้านการค้นคว้าวิจัยหรือสนับสนุนการประชุมวิชาการให้แก่แพทย์ผิวหนัง แพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง แพทย์ประจำบ้านหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในสายงานด้านตจวิทยา (ผิวหนัง)
ด้านดร. นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ปัญหาของความงาม ผิวพรรณและปัญหาสุขภาพของผิวหนัง โดยเฉพาะในเรื่องของการนำสเต็มเซลล์มาใช้ ในวงการแพทย์ว่า สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ได้นำเอาหัวข้อ “สเต็มเซลล์ : ความจริง ความหวังหรือความฝัน” มาเผยแพร่สู่สาธารณชนเนื่องจากต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชน ได้ตระหนักและตอกย้ำถึงการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อเสริมความงามและการชะลอวัย รวมถึงปัญหาอันตรายจากการใช้สเต็มเซลล์เพื่อเสริมความงาม โดยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีขีดจำกัด และสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ ได้หลากหลาย มี 2 ประเภท ได้แก่ 1. เซลล์ที่มาจากตัวอ่อน (embryo) และ 2. มาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด เมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิดมักได้ปริมาณน้อย จะต้องมาทำการเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ กระบวนการดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อน บางกรณีจะใช้น้ำเหลืองจากวัวมาผสมในน้ำเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนต้องใช้เซลล์พี่เลี้ยงที่เป็นเซลล์มาจากหนู เซลล์เหล่านี้ เลี้ยงยาก ตายง่าย ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เมื่อได้เซลล์จำนวนมากพอ อาจนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เมื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดโดยใช้ยากระตุ้นมักเก็บได้เซลล์ปริมาณมากพอจนไม่จำเป็นต้องนำเซลล์มาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มปริมาณก่อนนำไปใช้ การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในปัจจุบัน การรักษามาตรฐานมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดหรือภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย
ทั้งนี้อาจจะมีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบันการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการใช้เซลล์ต้นกำเนิดก่อให้เกิดประโยชน์ได้ผลสม่ำเสมอในผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นนอกจากโรคทางโลหิตวิทยา การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อรักษาถือเป็นการวิจัยทั้งสิ้น โดยการรักษาเหล่านี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยและจริยธรรมฯ ก่อน ว่ามีความเหมาะสมที่จะวิจัย ตลอดจนจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ป่วยเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงความจำนงว่าจะเข้าร่วมการศึกษาวิจัย โดยทราบผลดีผลเสียที่ได้จากการวิจัยและผู้ป่วยจะต้องไม่เสียค่าใช่จ่ายในการเข้าร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว
ดร. นพ.เวสารัชกล่าวย้ำว่าไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้มาตรฐาน สำหรับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในด้านผิวหนัง ความงามและชะลออายุ การทำการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด นอกจากโรคทางโลหิตวิทยาถูกควบคุมด้วยข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552 หากมีผู้ใดชักชวนให้ท่านรับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในโรคที่ไม่ใช่ทางโลหิตวิทยา กรุณาแจ้งมาที่แพทยสภา เพื่อจะได้มีการตรวจสอบว่าเป็นการรักษาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
ด้าน ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า รายละเอียดและข้อเท็จจริงของสเต็มเซลล์ในปัจจุบัน กับความหมายของสเต็มเซลล์คือเซลล์ที่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัดและยังไม่เจริญจนกลายเป็นเซลล์ที่โตเต็มวัย สเต็มเซลล์มีหลายชนิดแต่ละชนิดคุณสมบัติที่แตกต่างกัน สร้างเซลล์ร่างกายต่างชนิดกัน ทางการแพทย์มีการนำไปใช้ต่างกัน
“ตั้งแต่แรกเกิดเมื่อไข่ผสมกับอสุจิ ถ้าเราแยกเซลล์จากตัวอ่อนระยะเริ่มแรกมาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนในหลอดทดลอง เราเรียกเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน (Human embryonic stem cell) มีคุณสมบัติที่กลายเป็นเซลล์ได้ทุกชนิดในร่างกาย แต่เมื่อตัวอ่อนเริ่มมีรูปร่างแม้ยังอยู่ในครรภ์ (วัน) เซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือนเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนจะหายไปจากร่างกาย อวัยวะส่วนใหญ่จะมีสเต็มเซลล์ของตัวเอง สร้างเซลล์ของอวัยวะนั้น ๆ เช่น สเต็มเซลล์สมองสร้างเซลล์ประสาท สเต็มเซลล์ในไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือด เซลล์จากสายสะดือทารกก็ใช้สร้างเซลล์เลือด สเต็มเซลล์จากอวัยวะหนึ่งไม่สามารถสร้างเซลล์ของอีกอวัยวะหนึ่งได้ เมื่อโตขึ้นอีกสเต็มเซลล์ในหลาย ๆ อวัยวะจะหายไป หรือมีจำนวนน้อยลงมาก ยกเว้นในอวัยวะทีต้องมีการสร้างเซลล์สม่ำเสมอทุกทุกวัน เช่น สเต็มเซลล์เลือดที่พบในไขกระดูก ที่อยู่ของสเต็มเซลล์ในร่างกายเป็นที่ๆมีความพิเศษที่ทำให้สเต็มเซลล์คงคุณสมบัติอยู่ได้ สเต็มเซลล์เลือดจะอยู่ในไขกระดูกไม่ออกมาในเลือดยกเว้นฉีดยากระตุ้น
ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ กล่าวว่า การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคมี 3 แนวทางใหญ่ ๆ คือ 1. ปลูกสเต็มถ่ายเซลล์แทน สเต็มเซลล์ที่ไม่ทำงาน ในอวัยวะที่ต้องมีการสร้างเซลล์สม่ำเสมอ เป้าหมายคือให้สเต็มเซลล์หลังปลูกถ่ายไปแล้วสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นๆไปอีกหลายปีหลังปลูกถ่าย ด้วยเหตุผลทางเทคนิกอวัยวะที่ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้ยังมีจำกัด ที่เป็นการรักษามาตรฐานในประเทศและทั่วโลกมีเพียงนำสเต็มเซลล์จากไขกระดูกไปรักษาโรคระบบเลือด เท่านั้น การเพาะสเต็มเซลล์ผิวหนังเพื่อรักษาแผลไฟไหม้ และการเพาะสเต็มเซลล์กระจกตามีใช้ในหลายประเทศแต่ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐานในไทย 2. การนำสเต็มเซลล์ไปสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะก่อนนำมาปลูกถ่าย เช่นเซลล์ประสาทที่สร้างสารโดปามีนสำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน เซลล์ตับอ่อนที่หลั่งอินซูลินสำหรับรักษาโรคเบาหวาน ยังอยู่ในขั้นการทดลอง เนื่องจากข้อจำกัดทางคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดร่างกายในอวัยวะต่าง ๆ ที่มีไม่ครบทุกอวัยวะ สร้างเซลล์ได้ไม่ครบทุกชนิด และเพิ่มจำนวนได้จำกัดในหลอดทดลอง เซลล์ที่เป็นความหวังคือ เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเซลล์ร่างกายกลับสู่สเต็มเซลล์ ที่เรียกว่า induced pluripotent stem cells ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี 2012 และ 3. การปลูกเซลล์หวังให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สร้างเซลล์ เช่นหวังว่าเซลล์ที่ปลูกถ่ายจะหลั่งสารกระตุ้นการซ่อมแซมการร่างกาย การศึกษาในลักษณะนี้แม้มีจำนวนไม่น้อยในบางโรค อย่างไรก็ดีข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่แสดงว่ามีประสิทธิภาพมากเพียงพอ หรือแตกต่างกับการฉีดยาหลอก ยังไม่มีสมาคมทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับเป็นการรักษามาตรฐาน จนกว่าจะมีข้อมูลสนับสนุนมากกว่านี้
ด้าน อ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์รักษาโรคของเส้นผม และหนังศีรษะ โรคพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึง รายละเอียดและข้อเท็จจริงในส่วนของการนำเซลล์ต้นกำเนิดเส้นผมมาใช้ในการรักษาปัญหาผมบางศีรษะล้าน ปัญหาผมร่วงผมบางจัดเป็นปัญหาที่พบบ่อยในคลินิกโรคผิวหนัง โดยเฉพาะภาวะผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรม โดยในปัจจุบันการรักษามาตรฐานของโรคนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ การรักษาด้วยยา และการผ่าตัดปลูกย้ายเส้นผม (hair transplantation) อย่างไรก็ตามยังมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่การรักษาได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงเป็นที่มาในการทำการศึกษาวิจัยนำเซลล์ต้นกำเนิดเส้นผม (cell-based treatment) มาใช้รักษาโรคนี้ โดยการนำเอาผมด้านหลังที่ไม่ได้รับอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย มาคัดแยกเซลล์ต้นกำเนิดชนิด dermal papilla หรือ dermal sheath ที่อยู่บริเวณรากผม มาเพาะเลี้ยง เพิ่มจำนวน และฉีดกลับเข้าไปยังบริเวณหนังศีรษะที่ปัญหาผมบาง จากรายงานการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่พบว่าการศึกษาทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนที่สอง คือเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง เซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดผมขึ้นใหม่ได้ในผิวหนังของหนู และผมเหล่านี้มีการทำงานเป็นวงจร (hair cycle) คล้ายผมปกติ อย่างไรก็ดียังไม่มีการศึกษาของการใช้เซลล์ดังกล่าวในมนุษย์ออกมา เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเส้นผมทั้งสองชนิดนี้มักจะสูญเสียความสามารถในการเหนี่ยวนำหรือกระตุ้นผมเมื่อนำออกจากร่างกายมาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวน ซึ่งคาดว่าการรักษาปัญหาผมด้วยวิธีนี้คงจะต้องรอเวลาในการศึกษาและพัฒนาอีกระยะหนึ่ง