กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--D Communication
วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ร่วมกับกลุ่มผ้าทอพื้นเมือง และจังหวัดอุทัยธานี เตรียมจัดงานมหกรรมผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี และนิทรรศการวิชาการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ครั้งที่ 2 ขึ้นระหว่างวันที่ 27,28 ก.พ. -1 มี.ค. 58 พร้อมอวดโฉมผ้าทอพื้นเมืองที่มีมากกว่า 60 ลาย และผ้าทอโบราณอายุ 200 ปี และเตรียมผลักดันผ้าทอมือของชุมชนสู่ระดับสากล
ดร.สุวรรณ รณหงษา ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี กล่าวว่า งานมหกรรมผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี และนิทรรศการวิชาการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อส่งเสริมกลุ่มผ้าฝ้ายและผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัด เป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นปีละครั้ง โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งกรมหม่อนไหม และวิทยาลัยชุมชน 20 แห่งทั่วประเทศที่จะมาร่วมจัดนิทรรศการ ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆของผ้าทอมือ
“ภายในงานจะมีพาวิลเลียนจัดแสดงผ้าพื้นเมืองของ จ.อุทัยธานี ที่หาชมที่อื่นไม่ได้ เพราะบางผืนมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก รวมทั้งผ้าที่ได้รับรางวัลจากยูเนสโก ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี, ผ้าฝ้ายโบราณอายุกว่า 200 ปี การทอผ้า เป็นวิถีชีวิตของคนอุทัยธานีที่มีมาช้านาน ทั้งผ้าฝ้าย ไหม และฝ้ายแกมไหม มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่ลวดลายโบราณ โดยได้รับการอนุรักษ์ไว้ อายุไม่ต่ำกว่า 100-200 ปี” ดร.สุวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ลายผ้าต่างๆ สามารถอธิบายได้ถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภูมิปัญญา ของชุมชนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน อุทัยธานีมีกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองทั้งหมด 27 กลุ่ม ลวดลายโบราณที่มีมากกว่า 60 ลาย ได้รับการอนุรักษ์ และถ่ายทอดภูมิปัญญามาจนถึงปัจจุบัน
“สำหรับงานมหกรรมผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี และนิทรรศการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองของอุทัยธานี เชื่อว่างานดังกล่าวจะช่วยเผยแพร่ลวดลายโบราณเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”
ด้าน ผศ.ดร.สมภพ เจิมขุนทด ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี กล่าวว่า ภายในงานมีผ้าฝ้ายโบราณนำมาจัดแสดงมากกว่า 100 ผืน ผืนที่เก่าสุด มีอายุมากถึง 215 ปี จุดเด่นของผ้าทอ จ.อุทัยธานีอยู่ที่กระบวนการผลิต กล่าวคือการทอที่ประณีต ความหนาของเนื้อผ้า สีไม่ตกเพราะย้อมด้วยสีธรรมชาติ
“ชุมชนทอผ้าส่วนใหญ่จะอยู่ใน อ.บ้านไร่ ซึ่งเอกลักษณ์ของคนบ้านไร่ก็คือ “นุ่งซิ่นตีนแดง ใส่เสื้อลาว” วิถีชีวิตของคนในชุมชนคือ ทำการเกษตร เวลาว่างหลังเลิกงานถึงมาทอผ้ากัน จากองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผ้าทอของเรามีราคาสูง เพราะความยากในการผลิต และใช้เวลาในการทอ เสมือนเป็นการทำงานงานศิลปะบนผืนผ้า
โดยผ้าทอลายโบราณของ จ.อุทัยธานี สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นลาวครั่ง อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง เมื่อราวปี พ.ศ. 2530 เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มีลายพญานาค ลายขอ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนใหญ่นิยมทอผ้าฝ้าย ปัจจุบันมีชุมชนทอผ้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ 27 กลุ่ม เช่น ชุมชนทอผ้าบ้านนาตาโพ ชุมชนทอผ้าผาทั่ง ชุมชนทอผ้าบ้านโคกหม้อ”
ในงานนี้ยังมีกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การร่วมแรง ร่วมใจของชุมชนกลุ่มต่าง ๆ ใน จ.อุทัยธานี ร่วมกันทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณ จำนวน 61 ผืน 61 ลาย และนำมาเย็บต่อกันเป็นผืนเดียว เพื่อนำทูลเกล้าถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาส 60 พรรษา
นอกจากนี้จะมีการเดินแบบของคนในชุมชน ทุกเพศ ทุกวัย โดยสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บจากผ้าทอพื้นเมือง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนหันมาสวมใส่ผ้าทอพื้นเมืองในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น
มหกรรมผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี และนิทรรศการวิชาการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27,28 ก.พ. -1 มี.ค. 58 ณ. วิทยาลัยชุมชน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดของงานเพิ่มเติมได้ที่ 056-539204