กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(NDMI), สถาบันภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร และโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นำนิทรรศการกลางแจ้ง “ของป่า : ภูมิปัญญาท้องถิ่นอุษาคเนย์” และการแสดง “หนังประโมทัย” ร่วมจัดแสดงในงานมหกรรม “มูนมังอีสาน สู่ประชาคมอาเซียน” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคประชาสังคมในการก้าวสู่ประชาคมเซียน
ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัด “สกลนคร” มีพื้นที่ใกล้เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศลาวและประเทศเวียดนาม ประกอบกับในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งประชาคมอาเซียน ด้วยเหตุนี้จังหวัดสกลนคร โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร จึงได้จัดให้มีโครงการมหกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นอาเซียน “มูนมังอีสาน สู่ประชาคมอาเซียน” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในพื้นที่ในการรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ภายในงานดังกล่าวประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรมคือ การสัมมนาเชิงวิชาการระดับนานาชาติในหัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” การแสดงและแลกเปลี่ยนคู่ค้า “ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่อาเซียน” การอบรมเชิงปฏิบัติการและการประกวด “การเล่านิทานพื้นบ้านอาเซียน”
โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกับ มรภ.สกลนคร ใน 2 กิจกรรมคือ การแสดงนิทรรศการกลางแจ้ง และ กิจกรรมแลกเปลี่ยนศิลปะและการแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง (3ประเทศ 9 จังหวัด) สำหรับนิทรรศการ “ของป่า : ภูมิปัญญาท้องถิ่นในอุษาคเนย์” ชุดนี้นั้นจะมีความพิเศษแตกต่างไปจากที่เคยจัดแสดงที่มิวเซียมสยามคือ ได้มีการนำของป่าและต้นไม้ในพื้นถิ่นอีสานเข้ามาเป็นเนื้อหาหลักในการสื่อความรู้ให้เห็นถึงต้นแบบธุรกิจที่มาจากธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังร่วมกับ มรภ.สกลนคร ถอดรหัสองค์ความรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าท้องถิ่นของจังหวัดคือ “ผ้าคราม” ที่มีอดีตอันยาวนานกว่า 6 พันปีนำมาร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ในครั้งนี้พร้อมทั้งจัดกระบวนการเรียนรู้การย้อมผ้า ให้ผู้สนใจได้ลงมือทำด้วยตนเองตามปรัชญาการเรียนรู้แบบ Play & Learn เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความสนุกสนานไปพร้อมๆ
ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ หัวหน้าเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สพร. เปิดเผยว่า การจับมือกันของ สพร.และภาคีเครือข่ายในครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “Museum Falimy” เพื่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเครือข่าย เกิดการต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกัน
“นอกจากนิทรรศการของป่าฯ ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้แล้ว ทางเครือข่าย Museum Family โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังได้นำหนังปะโมมัยหรือหนังตะลุงอีสานทหาชมได้ยากและกำลังจะเลือนหายไป มาร่วมจัดแสดงและเปลี่ยนมุมมองในด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับการแสดงอื่นๆ จากประเทศเพื่อนบ้านของเราอีกด้วย” ดร.ศุภกรกล่าว
นายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี นักวิชาการปฏิบัติการ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการแสดงหนังประโมทัยว่า คำว่าประโมทัยนั้นน่าจะมีที่มาจากชื่อคณะที่ทำแสดงหนังประโมทัยในยุคแรกๆ ที่นำการแสดงหนังตะลุงจากภาคใต้มาประยุกต์เพื่อแสดงในสมัยนั้น และได้กลายเป็นชื่อที่เรียกหนังตะลุงอีกสานมาจนถึงปัจจุบัน โดยหนังประโมทัยนั้นมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการแสดงหนังตะลุงของชาวปักษ์ใต้ สิ่งที่แตกต่างกันคือเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงซึ่งจะเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของภาคอีสาน เครื่องดนตรีที่ใช้ก็จะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานและมีท่วงทำนองที่สนุกสนานเหมือนกับหมอรำ นอกจากนี้ตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องก็ยังมีชื่อที่แตกต่างกัน
“ปัจจุบันในภาคอีสานยังมีการแสดงหนังประโมทัยอยู่ในหลายๆ พื้นที่ แต่ความนิยมเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะเริ่มมีสื่อสมัยใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าเข้ามาแทนที่ แต่สำหรับการแสดงของคณะเพชรอีสานของโรงเรียนดงบังฯ จะเป็นเพียงคณะเดียวที่แสดงโดยเด็กนักเรียน ตรงนี้ก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีคนสนใจมากและได้รับการเชิญให้ไปแสดงยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเสน่ห์ของหนังประโมทัยก็คือสามารถสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเข้าไปในระหว่างการแสดง ทำให้การแสดงมีความร่วมสมัยและทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” นายณรงฤทธิ์ระบุ
นายไมตรี ปะวะเสนะ ครูผู้ฝึกสอนหนังประโมทัย คณะเพชรอีสาน โรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ จ.มหาสารคาม เล่าให้ฟังว่าปัจจุบันเรามีเด็กนักเรียนอยู่ในคณะทั้งหมด 30 คนในทุกระดับชั้นตั้งแต่ ม.1-ม.6 โดยปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในวิชา “ฮูบแต้ม” หรือวิชาศิลปะ โดยนำตัวละครในหนังประโมทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในวิชาศิลปะ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งชมรมหนังประโมทัยโดยใช้เวลาคาบสุดท้ายในวันพฤหัสในการทำกิจกรรม
“เมื่อก่อนเด็กหลายคนมักจะถามว่าทำไมโรงเรียนไม่ตั้งวงโปงลาง หรือดนตรีสากลซึ่งมีคนสนใจมากกว่า แต่ก็อธิบายว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่นั้นเป็นการช่วยอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไม่ให้สูญหาย และได้ร่วมต่อยอดลมหายใจของหนังประโมทัย โดยเด็กที่เข้าชมรมจะได้ครบทั้งเรื่องของความสนุกสนานจากการเล่นดนตรี การแสดง การทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งประสบการณ์ที่หลายๆ คนได้รับจากตรงนี้ ยังเป็นพื้นฐานที่ทำให้หลายๆ สามารถออกไปประกอบอาชีพในด้านการแสดงที่ชื่นชอบได้ โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแสดงนี้ยังคงอยู่คู่กับภาคอีสานต่อไปได้ก็คือการเปิดเวทีให้เด็กๆ ได้ออกไปแสดงความสามารถ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และความภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง” ครูไมตรีกล่าว
“กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น โดยได้ก่อให้เกิดความร่วมมือของบุคคลากรระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านวิชาการใหม่ๆ เกิดการต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเครือข่าย และขยายพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ได้มีแหล่งเรียนรู้ที่รื่นรมย์ รวมไปถึงยังช่วยทำให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น” ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ หัวหน้าเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สพร. กล่าวสรุป.