กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
สมาชิกสภาปฏิรูปฯอุบลราชธานี ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูปที่อ.น้ำยืน พบประชาชนต้องการการบริหารจัดการบ้านเมืองที่มีจริยธรรม มีนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชน
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนน้ำยืนวิทยา อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราขธานี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจ.อุบลราชธานี (สปช.อุบลราชธานี) ลงพื้นที่จัดเวทีต่างอำเภอเป็นครั้งที่สอง โดยคณะกรรมาธิกาวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งขาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประจำจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน
ผลการประชุมพบว่าชาวอำเภอน้ำยืนมีความสนใจในประเด็นปฏิรูปการเมืองมากที่สุด ตามมาด้วยประเด็นปฏิรูปทางสังคม ชุมชน เด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส , ประเด็นด้านการป้องกันและปราบปรามทุจริต และประเด็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภคตามลำดับ ส่วนวิธีแก้ปัญหาคอรัปชั่นส่วนใหญ่ต้องการให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างตรวจรับโดยภาคประชาชน และวิธีการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงคือเมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความผิด ต้องหมดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ส่วนประชาชนผู้ขายเสียงต้องได้รับโทษจำคุก
ความฝันของชาวอำเภอน้ำยืนที่อยากเห็นประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าคือ ควรมีการปกครองแบบธรรมาธิปไตย คือใช้คุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักไม่ใช่ใช้เพียงเสียงประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลักในการปกครองเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่านโยบายสาธารณะต่าง ๆ ควรเริ่มต้นจากประชาชนเป็นผู้เสนอ ,ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข็มแข็ง
ด้านปัญหาในพื้นที่ของชาวอำเภอน้ำยืนคือปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน ทั้งอ.น้ำยืน อ.น้ำขุ่น อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก ไม่รู้ใครทับที่ใครกันแน่ ไม่มีความชัดเจน อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการให้ชัดเจนและเที่ยงธรรม นอกจากนั้นก็มีปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดมาก ทำให้ครอบครัวอ่อนแอ ที่ปราบไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่บางส่วนร่วมทำเสียเอง บางทีมีการเคลียร์กันกลางถนนไม่ต้องไปถึงหน่วยงาน
การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นอุบลราชธานีถ่ายทอดเสียงออกอากาศสดโดยสถานีวิทยุ 26 สถานีอีกด้วย
สมาชิกสภาปฏิรูปจังหวัดอุบลราชธานีได้วางแผนในการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนทั้ง 25 อำเภอ โดยกำหนดเวทีระดับอำเภอระยะแรก 10 อำเภอ เวทีระดับจังหวัด 1 ครั้ง ครั้งต่อไปจะเป็นเวทีระดับอำเภอที่อำเภอศรีเมืองใหม่ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558
ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางเวปไซต์ www.เสียงประชาชนอุบลราชธานี.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ประจำศูนย์ประสานงานสปช.อุบลฯ 091 470 5921