กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สมาคมประกันวินาศภัยไทย
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว “การบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทน กรณีมหาอุทกภัย ปี 2554” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยของไทยว่ามีความมั่นคงแข็งแรง หลังจากดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีมหาอุทกภัย ปี 2554 กว่า 4 แสนล้านบาทเสร็จสิ้น โดยมีนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยเข้าร่วมการแถลงข่าว ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ท เมื่อเร็วๆ นี้
สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลการจ่ายค่าสินไหมฯ น้ำท่วมปี 2554 สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และนักลงทุน หลังบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนกรณีมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งมีความเสียหายกว่า 4 แสนล้านบาทจบแล้ว โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยพร้อมผู้ประกอบการที่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมแถลงข่าวยืนยัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและนักลงทุน ว่าธุรกิจประกันวินาศภัยไทย บริหารจัดการค่าสินไหมกรณีน้ำท่วมปี 2554 ได้เป็นอย่างดี ย้ำบริษัทประกันวินาศภัยหลังจ่ายค่าสินไหมฯ น้ำท่วมเสร็จสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างมั่นคง
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากกรณีมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 100 ปี ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงหน่วยงานและธุรกิจการค้าต่างๆ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 13 ล้านคน รวมกว่า 4 ล้านครัวเรือน โดยความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องจำนวน 91,099 ราย มีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 410,421,799,544.46 บาท โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว 90,342 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.17 เป็นจำนวนเงิน 398,726,283,695.93 บาท คิดเป็นร้อยละ 97.15 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 2.85 เป็นประกันภัยการเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) อยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยจำนวนนี้มีจำนวนเงินที่เอาประกันภัยมากที่สุด คือ ประกันภัยการเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) จำนวน 392,299,311,506.24 บาท รองลงมาคือ ประกันอัคคีภัย (อาคารพาณิชย์/SME) จำนวน 10,812,062,886.60 บาท ประกันภัยรถยนต์ 4,107,612,177.81 บาท ประกันอัคคีภัย (ที่อยู่อาศัย) จำนวน 3,175,569,653.41 บาท และประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 27,243,320.40 บาทตามลำดับ และประกันภัยที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนครบทุกรายแล้วได้แก่ การประกันชีวิตและการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) การประกันภัยรถยนต์ และประกันอัคคีภัย (ที่อยู่อาศัย)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยได้มีบทบาทในการบรรเทาความเสียหายต่อลูกค้าที่ประสบกับมหาอุทกภัยเป็นอย่างดี บริษัทประกันวินาศภัยได้ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าค่าเสียหายที่ธุรกิจประกันภัยจะต้องจ่ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีมูลค่ามหาศาลมาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย แต่จากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ธุรกิจประกันภัยสามารถพลิกฟื้นสถานะทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเดินหน้าทำธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป จึงเป็นการพิสูจน์ว่าระบบการประกันภัยนั้นสามารถรองรับความเสี่ยงภัยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยมีศักยภาพในการจัดการสินไหมทดแทนขนาดใหญ่ได้ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยของไทยว่ามีความน่าเชื่อถือ และมีความมั่นคงแข็งแรง