กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
พร้อมวิเคราะห์โอกาส-แนวโน้มการแข่งขัน ข้อกฎหมายนโยบาย ที่อาจส่งผลกระทบ หวังใช้กำหนดนโยบายวางมาตรการเพิ่มศักยภาพผลักดันส่งออก ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปอียูเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท/ปี
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป เร่งดำเนินโครงการศึกษาสถานการณ์สินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดยุโรปในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558 - 2563) ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดอียูทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมงรวม 9 ชนิด ได้แก่ ผลไม้ ผัก สินค้าอินทรีย์ สมุนไพร เครื่องเทศ กุ้ง ปลาทูน่า และไก่ เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคม การค้า และสิ่งแวดล้อมของอียูที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในช่วง 2558 -2563 พร้อมศึกษาขนาดตลาด ความต้องการของผู้บริโภค ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่วนแบ่งตลาดสินค้าสดและแปรรูป วิเคราะห์แนวโน้ม โอกาส ศักยภาพ และคู่แข่งทางการตลาดของสินค้าเกษตรไทยในอียู
“สหภาพยุโรปหรืออียู (EU) เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก เนื่องจากมีประเทศสมาชิกถึง 28 ประเทศ และมีประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน ปัจจุบันความนิยมในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคใน EU ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีก เพิ่มความระมัดระวังและให้ความใส่ใจในเรื่องคุณภาพเพื่อรักษาภาพลักษณ์และสร้างจุดขายในการจำหน่ายสินค้า ขณะเดียวกันผู้ค้าใน EU ยังเพิ่มระดับความเข้มงวดในการนำเข้ามากขึ้น โดยได้ให้ความสำคัญทั้งด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสังคมและการใช้แรงงานด้วย” นายปีติพงศ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังมุ่งศึกษาปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรในตลาดอียูอาทิ กฎหมายใหม่และนโยบายที่อาจส่งผลกระทบ การผลิตสินค้าแบบเกษตรอินทรีย์ การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งยังมุ่งศึกษาแนวทางและข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และฉลากที่มีจุดเด่นและเหมาะสมต่อสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดอียู ไม่น้อยกว่า 5 ชนิด เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดนโยบายและวางมาตรการเพิ่มศักยภาพและสร้างขีดความสามารถการส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง อียู และใช้วางแผนประชาสัมพันธ์โปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวยุโรป ขณะเดียวกันภาคเอกชนยังสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวไปกำหนดนโยบายผลิตสินค้า และวางกลยุทธ์ทางการตลาดและส่งออกไปยังตลาด EU ได้อีกด้วย
ด้านนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โครงการฯ นี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยจะศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ยุโรปตะวันออก 11 ประเทศ ยุโรปตะวันตก 9 ประเทศ ยุโรปใต้ 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย 4 ประเทศ ซึ่งคาดว่า การศึกษาสถานการณ์สินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดยุโรปจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งยังคาดว่าจะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดอียูได้ และเป็นช่องทางผลักดันปริมาณและมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสู่ตลาดอียูเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท/ปี.