กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผยกลยุทธ์มาตรฐานการศึกษาจีน ครูสอนสัปดาห์ละไม่เกิน 10 ชม. ส่วนเวลาที่เหลือให้ครูทุ่มเทเวลาในการค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียม การสอน ตรวจการบ้านนักเรียน และพัฒนาตนเอง พร้อมเผยข้อมูลผลประเมินการศึกษากลุ่มโรงเรียนจีนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทยได้ผลประเมินโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก-ดี ในขณะที่ภาพรวมการประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ทั่วไป) ซึ่งมีประมาณ 36,972 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ยอยู่ในระดับพอใช้-ดี อย่างไรก็ตาม มหาเศรษฐีในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน โดยความสำเร็จของคนจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีนมาจากค่านิยมที่ของคนจีนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยการประเมินคุณภาพการศึกษา มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาตลอดจนยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับ โดย สมศ. มีบทบาทในการตรวจสอบยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยสะท้อนความแตกต่างของแต่ละสถานศึกษาที่แสดงผลสำเร็จของการจัดการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ความสำเร็จของคนจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีนในการเรียนหนังหนังสือ มาจากอิทธิพลดั้งเดิมของสังคมจีน 2 ประการ ได้แก่ ค่านิยมของพ่อแม่คนจีน ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนของลูก ตั้งความหวังไว้สูงและผลักดันลูกอย่างเต็มที่ และค่านิยมของคนจีนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ไม่ว่ายากดีมีจนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จหากมีความพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง ดังจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาจีนมีนักคิด นักปรัชญา ชื่อดังเป็นที่ยอมรับระดับโลก มีสุภาษิต คำพังเพย เรื่องเล่าที่ยกย่องบุคคลผู้ประสบความสำเร็จจากความพยายามตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอยู่มากมาย และมหาเศรษฐีในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน โดยปัจจุบันกลุ่มโรงเรียนจีนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทยได้ผลประเมินโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก-ดี ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 3 ผ่านมานั้นพบว่ากลุ่มโรงเรียนจีน ที่มีอยู่ประมาณ 86 โรงเรียนทั่วประเทศอยู่ในอันดับดีมาก-ดี โดยคิดเป็นอันดับดีมากอยู่ที่ร้อยละ 52.3 และดี อยู่ที่ร้อยละ 48 ในขณะที่ภาพรวมการประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ทั่วไป) ซึ่งมีประมาณ 36,972 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ยอยู่ในระดับพอใช้-ดี
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการศึกษาระดับโลก ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ศึกษาผลสำเร็จของการสอบประเมินผลด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนทั่วโลก จำนวน 65 ประเทศ อายุระหว่าง 15 ปี ภายใต้ Program for International Student Assessment (PISA) โรงเรียนในเซี่ยงไฮ้ทำคะแนนได้สูงที่สุดในการสอบประเมินเมื่อเทียบกับนักเรียนในวัยเดียวกันจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้สอนอย่างต่อเนื่องด้วยการอบรมครูที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพ โดยครูอาจารย์ของสถาบันการศึกษาในเซี่ยงไฮ้จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตร 240 ชม. และ 540 ชม. ตามอายุการทำงาน ซึ่งครูแต่ละคนจะมีชั่วโมงสอนสัปดาห์ละไม่เกิน 10 ชม. ส่วนเวลาที่เหลือให้ครูทุ่มเทเวลาในการค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียม การสอน ตรวจการบ้านนักเรียน และพัฒนาตนเอง ทั้งนี้หากโรงเรียนทั่วไป สามารถสามารถนำแนวคิดและวิธีการประกันคุณภาพที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ ก็จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพให้ประเทศชาติต่อไปได้
อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยการประเมินคุณภาพการศึกษา มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดย สมศ. จะทำการประเมินคุณภาพการศึกษาสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศทุก ๆ 5 ปี เพื่อตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพการศึกษา มี 2 ขั้นตอนหลัก ๆ คือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน และการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก โดยการประเมินคุณภาพภายนอกมีเพื่อตรวจสอบยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยสะท้อนความแตกต่างของแต่ละสถานศึกษาที่แสดงถึงอัตลักษณ์รวมทั้งผลสำเร็จของการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับการศึกษาของนานาประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์กล่าวสรุป
อาจารย์วรวีร์ ภักดี ผู้จัดการโรงเรียนกว่างเจ้า กล่าวว่าโรงเรียนกว่างเจ้า ถือกำเนิดมาจากโรงเรียนกว๋องสิว เมื่อ พ.ศ.2454 และในปี พ.ศ. 2491 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนกว่างเจ้า สำหรับโรงเรียนกว่างเจ้านั้นเป็นโรงเรียนเอกชนที่เน้นสอนภาษาจีน เปิดสอนมาแล้วเป็น 103 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกว๋องสิวแห่งประเทศไทย เปิดสอนตามหลักสูตรของทางกระทรวงศึกษาธิการ แต่มีการนำเทคนิคแบบจีนเข้ามาผสมผสาน โดยก่อนหน้านี้โรงเรียนทั่วไปจะไม่นิยมสอนภาษาจีนเพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปจีนเริ่มมีอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น ภาษาจีนได้กลายเป็นภาษาสากลที่ใช้กันมากรองจากภาษาอังกฤษ ทำให้โรงเรียนต่างๆ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของภาษาจีน และเริ่มบรรจุวิชาภาษาจีนเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป แต่ทว่าข้อแตกต่างระหว่างการเรียนการสอนภาษาจีน ในโรงเรียนทั่วไปกับโรงเรียนกว่างเจ้านั้น คือโรงเรียนทั่วไปจะสอนภาษาจีนเพียงจำนวน 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่โรงเรียนกว่างเจ้าจะสอนภาษาจีนอยู่ที่ 6-7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะทำการสอนควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษและภาษาไทย
ทั้งนี้ครูผู้สอนส่วนใหญ่ในโรงเรียน จะมาจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (ฮั่นปั้น) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศ ต่างๆ โดยการผลิตครูที่มีคุณภาพและคัดเลือกครูเพื่อส่งไปปฏิบัติงานในประเทศนั้นๆ รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำหลักสูตร การทดสอบความรู้ HSK การฝึกอบรมและผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาจีน จึงถือเป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาจีนและมีเทคนิคในการสอนที่ดี ทำให้เด็กที่จบจากโรงเรียนมีคุณภาพ เช่น เด็กที่เรียน ป.4 ของโรงเรียนจะสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนสำหรับเด็ก หรือ YCT ได้ระดับ2 ส่วน ป.6 ได้ระดับ 3 ซึ่งมีทั้งหมดเพียง 4 ระดับ และสามารถเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนรัฐบาลได้ง่าย หรือนักเรียนบางคนก็เดินทางไปเรียนต่อยังประเทศจีนได้เลย นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีภาษาทางเลือกให้นักเรียนได้ลงเรียนเพิ่มเติม อาทิ ภาษาเสปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งถือเป็นภาษาที่ใช้มากเป็นอันดับสองรองจากภาษาจีนกลาง และจะมีกิจกรรมเสริมเช่น การเขียนพู่กันจีน,เชิดสิงโต, และกังฟู เป็นต้น
อาจารย์สิริยา เวียงนนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกว่างเจ้า กล่าวว่าทั้งนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาของโรงเรียน จะอ้างอิงกับผลการประเมินของ สมศ. มาเป็นแนวทางในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหาร และทิศทางการขับเคลื่อนโรงเรียน โดยคณะครู อาจารย์ จะมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพเพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน อันเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของทาง สมศ. และวิสัยทัศน์ของโรงเรียนอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าการประเมินของ สมศ. เป็นการเพิ่มภาระให้กับทางโรงเรียนแต่อย่างใด
และในส่วนการเรียนการสอนแบบ 3 ภาษานั้น ก็ไม่ถือเป็นการเพิ่มภาระการประเมินให้กับครูผู้สอน เพราะครูผู้สอนในโรงเรียนจะมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เรื่องของการเตรียมความพร้อมนั้นตามการประกันคุณภายภายในอยู่แล้ว ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการประกันคุณภาพจะสะท้อนผ่านตัวของนักเรียนในโรงเรียนเอง อย่างเช่นปีที่ผ่านมานักเรียนของโรงเรียนสามารถคว้าโล่รางวัลอันดับที่ 1 ในการแข่งขันคณิตศาสตร์ Inter School Mathematich Cahllange 2014 ณ International Pioneer school การได้รับรางวัลจากการแข่งขันเพชรยอดมุงกุฎภาษาจีนครั้งที่ 11 (นานาชาติ) ได้รับรางวัลแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษาจีน และการได้รับรางวัลแข่งขันลับสมองประลองไอคิวภาษาอังกฤษและทักษะคณิตศาสตร์ทั่วเอเชียชิงถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นต้น
นายเพียน รอดพ่วง ผู้ปกครองที่ส่งบุตร-หลาน เรียนภาษาจีน กล่าวว่า ผู้ปกครองหลายคนอาจจะให้ความสำคัญเฉพาะภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เด็กรุ่นใหม่ต้องรู้และพูดกันได้อยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันถ้าใครสามารถพูดภาษาที่สามนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ นั่นคือข้อได้เปรียบและกลายเป็นจุดแข็งในทันที ภาษาจีนเป็นอีกภาษาที่คนทั่วโลกใช้กันมากรองลงมาจากภาษาอังกฤษ เหตุที่มีคนใช้ภาษาจีนเยอะและกลายเป็นภาษาที่คนสนใจอยากจะเรียนกันมากขึ้นนั้น คำตอบไม่ใช้เพราะประเทศจีนมีประชากรเยอะเพียงอย่างเดียวแต่เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีการคาดการณ์ว่าจีนจะแซงเป็นเจ้าเศรษฐกิจโลกแทนที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาในปี 2020 อย่างแน่นอน และในส่วนประเทศไทยภาษาจีนกลางเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการที่ภาษาจีนกลางได้เข้ามามีบทบาทต่อตลาดแรงงานของไทยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การติดต่อทำธุรกิจค้าขาย หรือการร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวจีนทั้งจากแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ที่มีอัตราส่วนทางการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในการใช้ภาษาจีนกลางเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นผู้ปกครองจึงเริ่มนิยมส่งบุตร หลานมาเรียนยังโรงเรียนที่เน้นสอนภาษาจีน แต่เด็กไทยยังไม่ค่อยชอบเท่าที่ควร เนื่องจากเห็นว่าภาษาจีนยาก เพื่อเป็นการปลูกฝังอนาคตที่ดีควรเริ่มตั้งแต่เด็ก เพื่ออนาคตที่ดีของตัวเด็กเองในภายภาคหน้า
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th