ไทยประสบผลสำเร็จในการปูฐานสุขภาพเยาวชนไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 1997 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--3 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพ ในโรงเรียนเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในพ.ศ. 2544 และขยายออกสู่ประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันเยาวชนหลงไหล อาหารตะวันตกจนกลายเป็นค่านิยมโก้เก๋ทันสมัย โดยไม่รู้ว่าภัยร้ายกำลังเข้าใกล้ตัวทุกขณะ
เช้าวันนี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กทม.นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมระหว่างประเทศ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รวม 10 ประเทศ เพื่อความร่วมมือในการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพ และการสอนสุขศึกษาในโรงเรียนรูปแบบใหม่ ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลกว่าประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ ที่ริเริ่มดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและการปรับปรุงรูปแบบ การสอนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนประสบผลสำเร็จ ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการจัดทำโครงการ "โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ" ขึ้น ทดลองนำร่องที่โรงเรียนในเขตกทม. 4 แห่ง เน้น 2 กลุ่มเป้าหมายคือ ระดับประถมศึกษาทำที่โรงเรียนประชานิเวศน์ และโรงเรียนพญาไท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทำที่โรงเรียนหอวัง และโรงเรียนเซนฟรัง ซิสซาเวีย คอนแวนต์ กิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก การสร้างสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อสุขภาพอาทิ การงดจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารประเภทไขมันสูง เช่น ไก่ทอด พิซซ่า รวมทั้งการปรับวิธีการสอนวิชาสุขศึกษาให้มีเนื้อหาในเชิงทักษะเพื่อให้เด็กรู้จักการปฎิเสธอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังพฤติกรรม และค่านิยมที่ถูกต้องให้ติดตัวอย่างถาวรเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หลังดำเนินการเมื่อปี 2538-2539 พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ องค์การอนามัยโลกได้เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และได้ให้ประเทศสมาชิกดำเนินการพร้อมกันโดยใช้ไทยเป็นต้นแบบ ในส่วนของประเทศไทยเองกระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับกระทรวงศึกษาธิการพร้อมโดยใช้ไทยเป็นต้นแบบ ในส่วนของประเทศเองกระทรวงสาธารสุขจะประสานกับกระทรวงศึกษาธการเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 41,550 แห่ง นักเรียน 12.5 ล้านคน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปี 2544 จะดำเนินการให้ได้มากกว่า 90%
นายรักเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพของคนไทย มีแนวโน้มเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมมากขึ้น ที่เห็นชัดคือ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอ้วน ซึ่งจะปรากฎอาการในวัยผู้ใหญ่ ขณะนี้มีรายงานป่วยปีละกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิตปีละ 50,000 ราย ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินในการรักษา รวมทั้งการพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ราคาแพงเข้ามารักษาด้วย ดังนั้นในการแก้ไขที่ดีที่สุด จะต้องเริ่มต้นให้ความรู้ด้านนี้รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมในการดำเนินชีวิตของคนไทยตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน ซึ่งจะเป็นหนทางที่ใช้การลงทุนต่ำ แต่ได้ผลคุ้มค่า
ทางด้านนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยกล่าวว่า ขณะนี้เยาวชนไทยนับว่าเป็นกลุ่มสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการปลูกฝังค่านิยมแบบไทย ๆ เนื่องจากขณะนี้ทางด้านสื่อการโฆษณามีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง โดยการทำงานการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ดีที่สุด จะต้องเริ่มที่โรงเรียน แต่ละปีจะมีเยาวชนไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น อยู่ในโรงเรียนปีละ 12 ล้านคน และมีครูประมาณ 5-6 แสนคน รวมแล้วประมาณ 20% ของประชาชน ปัญหาขณะนี้มีอยู่ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เยาวชนไทยถลำเข้าไปใกล้สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการสอนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน
นายแพทย์หทัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เยาวชนไทยรู้จักอาหารตะวันตกประเภทฟาสฟู๊ด รู้จักพิซซ่า ไก่ทอดมากกว่าเด็กเมื่อ 20-30 ปีก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโรคสมัยใหม่ เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 30-40 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคมะเร็งมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันสูง แม้แต่คนผอมหากกินอาหารเหล่านี้ไปมาก ๆ ก็จะมีไขมันในเส้นเลือดสูงได้เช่นเดียวกันกับคนอ้วน
นายแพทย์หทัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจค่านิยมของนักเรียนที่อยู่ในการโครงการนำร่อง 4 แห่งในกทม.ในระดับประถมศึกษารวม 445 คน ก่อนเริ่มโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เด็กมีค่านิยมในการรับประทานไก่ทอด พิซซ่า ร้อยละ 27 หลังดำเนินการพบค่านิยมลดลงเหลือร้อยละ 7 ส่วนระดับมัธยม จำนวน 503 คน พบมีค่านิยมไก่ทอด พิซซ่า ร้อยละ 17 แต่หลังดำเนินการค่านิยมกลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ทั้งนี้เหตุที่ไม่ลดเพราะว่าเด็กรู้สึกว่าอาหารดังกล่าวเป็นเรื่องของความโก้เก๋ทันสมัย ส่วนการออกกำลังกาย พบว่าเด็กระดับประถมศึกษากระทำเป็นประจำมากกว่าเด็กมัธยมในอัตราร้อยละ 51 และ 20 ตามลำดับ ดังนั้นการพัฒนาการเรียนการสอนด้านสุขภาพในยุคต่อไปนี้ จะต้องสอนให้เด็กมีทักษะไปด้วย ทั้งนี้การส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนจะเป็นหนทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง รวมทั้งกลุ่มโรคไม่ติดต่อในอนาคตได้สำเร็จอย่างแน่นอน--จบ--

แท็ก เสริมสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ