กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมสัมมนาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงมหาดไทยกว่า 2 แสนล้านบาทและงบประมาณประจำปี พ.ศ.2557ที่ต้องเร่งเบิกจ่ายอีกกว่า 18,500 ล้านบาท ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงติดตามความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อวางแนวทางการเร่งรัดติดตามให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ก่อนเข้าร่วมประชุมฯ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เยี่ยมชมนิทรรศการ”ประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ” จากนั้นได้เข้าร่วมการประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า350 คน โดยในช่วงแรกได้รับฟังสรุปผลการจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการสร้างความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากผู้ว่าราชการจังหวัด 4 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตามที่ได้มีการแบ่งกลุ่มสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกันในวันแรกของการประชุมฯ
โดยได้มอบนโยบายแก่ผู้เข้าร่วมประชุมฯว่า แม้ว่าขณะนี้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังต่ำกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่าต้องมีผลเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ55 การประชุมสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการการทำงานเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งหลังจากได้รับฟังการนำเสนอจากตัวแทนแต่ละกลุ่ม ก็มั่นใจว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีผลการเบิกจ่ายตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ในช่วงไตรมาสต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมากและ ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการจัดบริการสาธารณะทั้งการจัดสวัสดิการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยกระบวนการทั้งหมดจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการตามเป้าหมาย2 เรื่องหลักคือ 1.เร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ยึดถือเป้าหมายของแผนปฏิบัติเร่งรัดการเบิกจ่ายเป็นพันธสัญญาระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องร่วมมือผลักดันให้การบริหารงบประมาณในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ส่วนราชการก่อหนี้ผูกพันทุกรายการภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้
และ2. ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสนับสนุน ส่งเสริม กำกับ ติดตามการบริหารงบประมาณตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การบริหารงบประมาณของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีกระบวนการตรวจสอบอย่างรัดกุม อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งต้องรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอทราบ และในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการโดยไม่โปร่งใส หรือเป็นไปในทางทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เผยแพร่ผ่านทางเวปไซต์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและจังหวัดเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และขอให้ทุกฝ่ายสนับสนุนให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านกระบวนการจัดทำแผน การตรวจสอบ หรือการแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่างๆเช่น ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับผลการประชุมในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น ในเขตภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้รับงบประมาณรวม7,290 ล้านบาท มีปัญหาเบิกจ่ายในภาพรวมของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ คือ มาตรการติดตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ปรับลดราคากลางตามราคาน้ำมัน ต้องไปจัดทำราคากลางใหม่ ทำให้ต้องมีการเพิ่มขั้นตอนในกระบวนการกำหนดราคากลางใหม่ทำให้เกิดความล่าช้าเพิ่มมากขึ้น โดยจำเป็นต้องเร่งดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องให้เร็วขึ้น ราคาสูงกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร เช่น อาคารเรียน ประปาหมู่บ้านควรปรับราคาที่จัดสรรให้สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน และจากการที่งบประมาณที่จัดสรรไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความล่าช้าในการประกาศประกวดราคามากกว่า1 ครั้ง ราคากลางต่ำกว่าราคามาตรฐานของตลาด เช่น ถนน ควรมีการปรับหลักเกณฑ์ราคากลางของกระทรวงพาณิชย์ งบประมาณเหลือจ่ายจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เรียบร้อยแล้ว อันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการทุจริต และยังไม่ได้นำไปใช้ทำอย่างอื่น ทำให้ฐานตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณต่ำลง ทั้งนี้กลุ่มภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะสามารถลงนามในสัญญาสิ้นไตรมาสสองได้ ร้อยละ 97.52 คิดเป็นเงิน 7,109 ล้านบาทเศษ และคาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นไตรมาสสอง ได้ร้อยละ 46.66 คิดเป็นเงิน 3,401 ล้านเศษ
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้รับงบประมาณรวม12,683 ล้านบาทนอกเหนือจากภาคเหนือแล้ว มีปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ดังนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่รับจัดสรร กรณีไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ และการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการพิมพ์คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง สำนักงบประมาณมอบอำนาจให้ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ คือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ กรณีวงเงินที่ประมูลได้ เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร ควรมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบเงินได้ ไม่เกินร้อยละ 10 และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความรู้ความเข้าใจระบบE-Auction องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก จำนวนช่างมีน้อยและขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำหนดราคากลาง ทั้งนี้กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัดมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะสามารถลงนามในสัญญาสิ้นไตรมาสสองได้ ร้อยละ 90.91 คิดเป็นเงิน 11,531 ล้านบาทเศษ และคาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นไตรมาสสอง ได้ร้อยละ 45.45 คิดเป็นเงิน 5,765 ล้านเศษ
ส่วนภาคใต้ 14 จังหวัด ได้รับงบประมาณ 5,032 ล้านบาท นอกเหนือจากภาคเหนือแล้ว มีปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะดังนี้ ปัญหาความไม่สงบ ทำให้ผู้รับจ้างไม่กล้าเข้าไปทำงาน ประกอบกับปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม และมติคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มระยะเวลาการก่อสร้างอีก 50 เปอร์เซ็นต์ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาเพิ่มขึ้นทำให้ผู้รับจ้างทำงานล่าช้า บางบริษัทเป็นคู่สัญญาหลายโครงการทำให้การก่อสร้างล่าช้า ทั้งนี้กลุ่มภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะสามารถลงนามในสัญญาสิ้นไตรมาสสองได้ ร้อยละ 95.70 คิดเป็นเงิน 4,807 ล้านบาทเศษ และและคาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นไตรมาสสอง ได้ร้อยละ 42.86 คิดเป็นเงิน 2,152 ล้านเศษ
ส่วนภาคกลาง 25 จังหวัด ได้รับงบประมาณ 7,112 ล้านบาท นอกเหนือจากภาคเหนือแล้ว มีปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะดังนี้ มาตรการตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 104/2557 ที่โครงการที่มีงบประมาณ เกิน 5 ล้านบาท ต้องเสนอขออนุมัติไปยังผู้กำกับดูแลที่ต้องไปตั้งกรรมการตรวจสอบโครงการที่ต้องใช้รายละเอียดรอบคอบ และประกอบกับโครงการมีจำนวนมากทำให้เกิดความล่าช้า หาผู้รับจ้างไม่ได้ เนื่องจากปริมาณงานของผู้รับจ้างมีมาก ไม่มีผู้เสนอราคาในเขตจังหวัด ขาดผู้ประกอบการที่มีความพร้อม(กรณีประปาหมู่บ้าน) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้กลุ่มภาคกลางทั้ง 25 จังหวัดมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะสามารถลงนามในสัญญาสิ้นไตรมาสสองได้ ร้อยละ 86.74คิดเป็นเงิน 6,140 ล้านบาทเศษ และคาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นไตรมาสสอง ได้ร้อยละ 42.36 คิดเป็นเงิน3,012 ล้านเศษ