กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ ประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2557 หุ้นละ 0.18 บาท โดยผลการดำเนินงานปี 2557 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 55.29 ล้านบาท ด้านผู้บริหาร “ พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ” ระบุตั้งเป้ารายได้ปี 2558 โตไม่ต่ำกว่า 1,000 ลบ. คาด Solar Farm หนุนออร์เดอร์หม้อแปลงโตก้าวกระโดด
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2557 (มกราคม-ธันวาคม) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 760.50 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 803.95 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 5.40 ขณะที่มีกำไรสุทธิจำนวน 55.29 ล้านบาท โดยรายได้ที่ลดลงเป็นผลมาจากความผันผวนทางด้านการเมืองส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการชลอการลงทุนในโครงการต่างๆ
จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานปี 2557 อัตราหุ้นละ 0.18 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 27 เมษายน 2558 และวันที่จ่ายปันผล 15 พฤษภาคม 2558
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2558 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะรุกตลาดทั้งในประเทศ และขยายตลาดไปในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังคาดว่าบริษัทฯ จะได้รับผลดีจากโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ชุมชนที่มีการจำหน่ายไฟ (COD) ส่งผลให้ความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าในปีนี้ โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าระบบกำลัง ขนาด 5,000 – 30,000 KVA 72 KV) และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯ มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 300 ล้านบาท
" ปีนี้เราตั้งเป้ารายได้ ไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท รายได้ในปีนี้ น่าจะทำนิวไฮ มากกว่าในทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นงานในส่วนงานเอกชนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตอนนี้ ความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มด้วย ขณะที่ตลาดต่างประเทศตอนนี้เราก็มองเห็นโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการขยายการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีการเปิดประมูลงานใหม่ โดยจะเห็นจากสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากคำสั่งซื้อหม้อแปลงที่กลับมาและยอดขายจากต่างประเทศที่เริ่มมีออเดอร์กลับเข้ามา