กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--แปลน ฟอร์ คิดส์
เพราะการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ทุกที่ ละครเวทีจึงเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านให้กับเด็กวัยเรียนรู้ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา ควบคู่ไปกับการต่อยอดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นการเชื่อมโยง อันเป็นพื้นฐานนำไปสู่กระบวนการคิดทุกมิติ
บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ร่วมกับกรุงเทพมหานครและมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก จัดงานละครนิทานสำหรับเด็กและครอบครัวเรื่อง ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน ตะลุยดาวน้อยสีน้ำเงิน ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ละครนิทานที่ปลูกจิตสำนึกรักษ์โลกผ่านเหล่าไดโนเสาร์น้อยจอมซ่า พร้อมเปิดตัวสมาชิกใหม่ในก๊วนไดโนน้อยอีก 6 ตัว จากหนังสือนิทานชุด ไดโนน้อยพัฒนานิสัย ตัวละครขวัญใจเด็กๆ ที่ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ จากเรื่อง แจ๋วแหววอวดเก่ง และ โต๋เต๋ขอโทษ
ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน ตะลุยดาวน้อยสีน้ำเงิน ละครเวทีเต็มรูปแบบโดยคนไทยเพื่อคนไทย จัดขึ้นมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือนิทานเรื่อง ดาวน้อยสีน้ำเงิน หนังสือที่ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทหนังสือสารคดี สำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี (สพฐ.) ปี 2553 ซึ่งนอกจากสาระความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดแทรกตลอดเรื่องแล้ว การใช้ดนตรีก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยกระตุ้นความสนใจเด็ก ทำให้เด็กเกิดความสนุกครื้นเครง คำร้องทำนองจดจำง่าย ปลูกฝังสุนทรียภาพทางดนตรีและจิตสำนึกที่ดีงามผ่านบทเพลง ตระการตากับเทคนิคพิเศษ แสง สี เสียง ที่รังสรรค์มาเพื่อความบันเทิงบนเวที
“ทุกวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่มนุษยทุกคนต้องตระหนักและช่วยกันดูแลรักษาในฐานะเป็นบุคคลคนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกัน การสร้างการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นและเกิดผลสัมฤทธิ์นั้นต้องสร้างและปูพื้นฐานความรู้สึกนึกคิดให้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ทดลองปฏิบัติ ได้เล่นตามกระบวนการอย่างมีความสุข เด็กจึงจะมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม เด็กๆ ที่มาชมละครนิทานเรื่องนี้ นอกจากความสนุกสนานแล้ว เด็กยังได้รับความรู้จากเนื้อหาที่แฝงคำสอนเอาไว้จากการดำเนินเรื่องอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่เราจะจูงมือลูกหลานมาเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกันเพื่อโลกที่น่าอยู่ในวันข้างหน้า” ริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด กล่าว
ทางด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “ผลตอบรับของละครนิทานเป็นที่ประทับใจมาก การสนองตอบของเด็กๆ ตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้ใหญ่มีการตอบรับต่อเสียงเพลง ต่อคำถามได้เป็นอย่างดี ไม่มีวินาทีใดที่เขาง่วงหงาวหาวนอนเลย ทั้งๆที่ละครเรื่องนี้สอดแทรกเนื้อหาสาระที่เต็มเปี่ยมมาก แต่เด็กไม่รู้สึกเบื่อ ลงตัวทั้งเนื้อเพลงและบทละคร คิดว่าเป็นละครที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง อยากให้ทั้งคุณครูและคุณพ่อคุณแม่ มาเห็นเทคนิค สามารถที่จะสอนสิ่งยากๆ ให้ดูง่ายๆ และให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ได้อย่างไร”
ครูน้ำผึ้ง ภานุชนาถ ทองเจือ ผู้บริหารสถานศึกษา กล่าวว่า “นิทานคือสื่อที่ถูกต้องที่เหมาะสมกับเด็ก ผู้ปกครองบางท่านที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกมักจะหยิบยื่นไอแพดให้ ซึ่งทำให้เด็กขาดสมาธิและสายตาเสีย ไม่มีแนวทางการควบคุมที่รัดกุมเพียงพอ การที่มีโอกาสได้พาเด็กๆ มาชมละครนิทานครั้งนี้เกิดประโยชน์มาก บางอย่างเป็นสิ่งที่เราพยายามสอนในโรงเรียนและคุณพ่อคุณแม่ก็สอนที่บ้าน ทีมงานได้ดึงเอาส่วนที่สำคัญที่สุดมานำเสนอได้ครบถ้วน ซึ่งการที่เด็กได้ดูตัวอย่างจากละคร จากการ์ตูนหรือหนังสือนิทานจะทำให้เขาจดจำ เด็กจะรู้จักดูแลโลกของเราให้น่าอยู่ ไม่ตัดต้นไม้ รู้จักรักษาความสะอาด ทิ้งขยะให้ถูกที่ ซึ่งนอกจากเนื้อหาของละครแล้ว ฉากและการจัดแสดงน่าสนใจ มีสีสันสวยงาม ตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและน่าสรรค์สร้างต่อไป”
สอดคล้องกับ แวร์ โซว คุณแม่ซิงเกิลมัมที่เลือกสอนลูกโดยวิธีเรียนแบบโฮมสคูล กล่าวว่า “สำหรับแง่คิดตามที่น้องคนดีได้ดู ตอนแรกตัวละครเขาจะทะเลาะกันแล้วตอนหลังมาดีกัน ตรงนี้ลูกเขามองเห็นเรื่องความสามัคคี ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนก็สามารถกลับมากลมเกลียวกันได้ รู้ว่าการปลูกต้นไม้สามารถช่วยโลกได้มากมาย เพราะทุกวันนี้เราเอาแต่ตัดต้นไม้อย่างเดียว เราจึงต้องช่วยกันปลูกต้นไม้บ้าง เมื่อเราตัดแล้วเราต้องปลูกใหม่มาทดแทน อยากบอกว่าครั้งนี้นอกจากเด็กได้ความสนุกแล้ว คุณแม่เองก็รู้สึกสนุกด้วย เหมือนได้ย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกด้วย ทำให้เรามีพลังต่อไป”
เป้าหมายหลักของการจัดงานละครนิทานครั้งนี้ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์โลกผ่านละครนิทาน สะท้อนสาเหตุและที่มาของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ มีความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและมีส่วนร่วมในการคิด พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันแก้ไขอย่างเข้าใจ ซึ่งสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ สมเจตน์ ยามาเจริญ ผู้กำกับละคร ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานละครเวทีว่า “ตอนนี้วิวัฒนาการและเทคโนโลยีต่างๆ เจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้เรื่องของจิตใจและจิตสำนึกของคนลดน้อยลง โดยเฉพาะเรื่องของการสนใจตัวเองมากกว่าส่วนรวม เราใช้ไดโนเสาร์มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพราะบางทีการสอนแบบตรงๆ เด็กจะไม่ชอบถูกสั่ง ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่ากับการสอนผ่านตัวการ์ตูนที่พวกเขาชื่นชอบ เมื่อเห็นพี่ไดโนทำอะไรก็อยากทำตามและเมื่อไดโนน้อยเรียนรู้อะไร เขาก็จะเรียนรู้ตามไปด้วย เรื่องนี้จะไม่ได้สอนเพียงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการอนุรักษ์เพียงเท่านั้น แต่จะมุ่งเน้นไปถึงการมีจิตสำนึกสาธารณะมากกว่าการเห็นแก่ตนเองเพียงอย่างเดียว หรือเห็นแก่ความสุขความสบายจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน เรื่องนี้เราอยากจะกลับมาบอกและปลูกฝังให้เด็กๆ สำนึกรู้คุณค่าในสิ่งแวดล้อมและอยากให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ดูแลเด็กได้เข้าใจและสอนลูกหลานให้ทำอะไรเพื่อส่วนรวม เพราะเมื่อเราให้เราจะได้ในสิ่งที่เราไม่คาดคิด โดยที่ไม่ต้องหวังผลตอบแทนใดๆ เรามีอะไรที่เราให้ผู้อื่นได้เราควรจะมอบให้ผู้อื่นอยู่เสมอ และเมื่อนั้นคุณจะได้ในสิ่งที่คุณอยากจะได้ และอาจจะมากกว่าที่คุณอยากจะได้ด้วยซ้ำ”
ภายในงาน นอกจากจะมีการแสดงละครนิทานแล้ว ยังมีกิจกรรมประจำฐานที่สอดคล้องกับเรื่องราว ชักชวนให้เด็กๆ เข้าร่วมก่อนชมละครซึ่งเป็นที่ถูกใจของเด็กๆ และผู้ปกครองที่มาร่วมงาน อาทิ โน้ต ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล ที่พาลูกสาวมาร่วมงานด้วย
“ลูกโน้ตเขาจะอ่านหนังสือนิทานชุดไดโนน้อยอยู่แล้ว พอได้เห็นเหล่าไดโนได้ออกมาเต้นมีชีวิตชีวาก็รู้สึกตื่นเต้น และสนุกไปกับการแสดง อีกหนึ่งอย่างที่ลูกชอบมากก็คือกิจกรรมด้านนอกที่สนุกสร้างสรรค์ ทำให้น้องเพลิดเพลินเต็มที่ก่อนที่จะเข้าไปชมการแสดง ในส่วนของการแสดง ต้องยอมรับเลยว่าเป็นละครสำหรับเด็กที่ให้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะในชีวิตประจำวันซึ่งเราต้องบริโภคและใช้สิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอ จนบางครั้งเราลืมคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาทั้งต่อตัวเราและโลกของเรา เรื่องนี้ทำให้เด็กๆ ได้นึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสำคัญกับพวกเขามากในอนาคต เพราะคนที่จะอยู่ต่อไปอีก 10-50 ปี คงไม่ใช่เรา แต่เป็นลูกของเรา เขาจะคิดได้ว่าเขาจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพื่ออนาคตและสิ่งแวดล้อมดีๆ ที่เขาจะได้หายใจ ซึ่งเหล่านี้ปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ได้ผลที่สุด”
ทางด้าน อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ พิธีกรและอดีตนางสาวไทยที่พาลูกๆ มาร่วมงาน ได้กล่าวเสริมว่า “เวลาดูละคร เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเราเอง นอกจากความสนุกที่เด็กๆ ได้แล้ว ยังสะท้อนกลับมาถึงผู้ใหญ่ที่พาเด็กๆมาดูด้วยว่า ถ้าอยากจะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม มิใช่แค่เด็กจะเป็นคนทำ อยู่ที่ผู้ใหญ่เองที่จะเป็นคนคิดริเริ่มให้เด็กๆ ได้เห็น ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่าง สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย เกิดขึ้นเพราะใคร ก็คือเพราะมนุษย์เอง แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร ก็ต้องมาจากมือมนุษย์ เพราะมันไม่มีสิ่งพิเศษอะไรที่จะทำให้โลกของเรากลับกลายเป็นโลกที่สวยงามได้ ทั้งหมดก็ต้องมาจากตัวเรานั่นเอง เมื่อถ่ายทอดออกมาผ่านเป็นตัวการ์ตูนแบบนี้ ก็ทำให้เด็กๆ มีจินตนาการ และมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย”
ทางด้านคุณพ่อร็อคเกอร์หนุ่ม จิระศักดิ์ ปานพุ่ม ที่พาครอบครัวมาชมละครนิทานครั้งนี้ กล่าวว่า “ประทับใจในการที่ทุกคนตระหนักรู้ถึงปัญหาและต้องการหาทางแก้ไขให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น การที่ตัวละครเด็กชายสายรุ้งหาหนทางแก้ปัญหาจะทำให้โลกที่มีแต่มลพิษ กลับมาสวยงามและน่าอยู่เป็นฉากที่ดูแล้วประทับใจ เราได้ประโยชน์มากโดยเฉพาะการสอนลูกให้รู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม การสื่อสารผ่านตัวการ์ตูนจะทำให้เขาเรียนรู้และสร้างพฤติกรรมที่ดีได้ การได้ดูละครเรื่องนี้ทำให้เขาจดจำได้ถึงสิ่งที่ดี เช่น ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ ต้องมีน้ำใจ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถนำไปปรับใช้กับการสอนลูกได้”
ไดโนป่วนก๊วนหรรษา ตอน ตะลุยดาวน้อยสีน้ำเงิน นับเป็นละครนิทานฝีมือคนไทยที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากโรงเรียนและผู้ปกครอง เป็นที่ชื่นชอบของเด็กและผู้ปกครองที่เข้ามาชมการแสดงอย่างมากมาย อีกทั้งยังปลูกฝังให้เด็กได้คิดและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกระตุ้นให้ตระหนักในสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น ซึ่งงานละครนิทานไดโนป่วนก๊วนหรรษาจะจัดเป็นประจำในเดือนมกราคมของทุกปี แน่นอนว่าจะเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของครอบครัวที่ต้องบันทึกในปฏิทินกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ ได้มาพบกันอีกครั้งในปีต่อๆ ไป