กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ปตท.
หมายเหตุ วันที่ 19 และ 20 ก.พ. 2558 ตลาดสิงคโปร์หยุดทำการเนื่องในวันตรุษจีน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)เพิ่มขึ้น 2.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มา อยู่ที่ 60.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10ก.พ. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 802สัญญา มาอยู่ที่ 223,302 สัญญา
- Baker Hughes Inc. รายงานผลสำรวจจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Crude Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 84 แท่น มาอยู่ที่ 1,056 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 54
- Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ในเดือน ธ.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อน 0.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 6.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามซาอุดีอาระเบียคงปริมาณการผลิตอยู่ที่ 9.63 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค. 57 และปริมาณน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 4/57 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.9%
- กระทรวงพาณิชย์ของจีนเผยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment)ของจีน ในเดือน ม.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.4% มาอยู่ที่ 1.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปี
- ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (Bank of Japan) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4/57 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.2% แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งที่ผ่านมา GDP ของญี่ปุ่นติดลบ ติดต่อกัน 2 ไตรมาส นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานยอดส่งออกในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% เป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี ทั้งนี้ยอดนำเข้าเดือน ม.ค. 58 ลดลง 9% เนื่องจากต้นทุนนำเข้าเชื้อเพลิงลดลงตามราคาตลาดโลก
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 425.6 ล้านบาร์เรล เป็นระดับสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เร่งอนุมัติคำร้องขอแลกเปลี่ยนน้ำมันดิบชนิดเบาของสหรัฐฯ กับน้ำมันดิบชนิดหนักของเม็กซิโก โดยมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติเม็กซิโก (PEMEX) เป็นผู้ดำเนินการทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศที่จะมีน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงสร้างของโรงกลั่นมากขึ้น อนึ่งสหรัฐฯอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันจากสหรัฐฯไปแคนาดาตั้งแต่ปี 2528
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงาน ดัชนีราคาของผู้ผลิต (Producer Price Index) เดือน ม.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 0.8% เป็นการปรับตัวลงแรงที่สุดในรอบ 5 ปี
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสร้างบ้านใหม่ (Housing Starts) ในเดือน ธ.ค. 57 ลดลงจากเดือนก่อน 2% อยู่ที่อัตรา 1,065,000 หลัง/ปี ต่ำกว่าคาดการณ์ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters เล็กน้อยที่ 1,070,000 หลัง/ปี
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นจะส่งผลต่อการดำเนินการโรงกลั่นในแถบตะวันออกตอนกลางของประเทศและอาจกดดันความต้องการใช้น้ำมันดิบ ทั้งนี้โรงกลั่นที่ปิดดำเนินการเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น โดยโรงกลั่น PA (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้องปิดดำเนินการเนื่องจากแม่น้ำDelaware แข็งตัวส่งผลให้ไม่สามารถขนส่งได้ รวมถึงโรงกลั่น Bayway (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) และโรงกลั่น Philadelphia Energy Solution (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้กำลังการกลั่นของของบริเวณภาคตะวันออกของประเทศลดลงมากกว่า 50% ทั้งนี้อุณหภูมิที่ลดลงต่อเนื่องอาจส่งผลให้โรงกลั่นบริเวณPADD1 ในสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการ กอปรกับสถานการณ์การประท้วงของสหภาพแรงงานทวีความรุนแรงส่งผลให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ ปิดเพิ่มขึ้นรวม 12 แห่ง เพิ่มแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ WTI ทางด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวได้ดีจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์จับตามองการแถลงการณ์ของนาง Janet Yellen ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ที่จะส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57 - 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48 - 52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.3 - 59.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจากกรมศุลกากรเวียดนามรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 8.2% มาอยู่ที่217,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเวียดนามมีโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวคือโรงกลั่น Dung Quat (กำลังการกลั่น 140,000 บาร์เรลต่อวัน) สามารถรองรับความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปใด้เพียง 30% และ Platts รายงานอินโดนีเซียประเทศผู้นำเข้าเบนซินรายใหญ่ของเอเชียมีแผนการนำเข้าเบนซิน 92 RON ในช่วงไตรมาสที่ 2/58 ปริมาณ 900,000 บาร์เรลต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ 200,000-600,000 บาร์เรลต่อเดือน อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Reuters รายงานจีนเพิ่มโควต้าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2558 เพิ่มขึ้นขึ้น 20% หรือ 9.75 ล้านตันต่อปี โดยโควต้าส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกเบนซิน และปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.พ.58เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล อยู่ที่ 13.39 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.98 - 73.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล,
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียเผยความต้องการใช้ดีเซลเดือน ม.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3% มาอยู่ที่ 1.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจฟื้นตัว นอกจากนี้ Energy Aspects คาดการณ์โรงกลั่น ในอินเดียกำลังการกลั่น370,000 บาร์เรลต่อวันมีแผนที่จะปิดซ่อมบำรุงเดือน มี.ค. นี้ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกดีเซลในเดือน เม.ย. 58 ลดลงจาก 700,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.พ.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.44 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 12.83 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 เดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.1 - 76.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล