กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
“อดิศักดิ์ เทพอาสน์” ผู้ว่าฯ นครพนม เปิดค่ายยาเสพติดฯ โครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด “โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองฯ” รุ่นที่ 1/2558 ตั้งเป้าฝึกอบรมบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ติดยา 5 รุ่น ๆ รวม 300 คน เผยกระบวนการบำบัดและฟื้นฟูโดยหลักการสมัครใจ เป็นวิธีที่เหมาะสมและเอื้อให้ผู้เข้ารับการบำบัด เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้ด้วยตนเอง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง แนะผู้อบรมตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ นำไปปรับใช้ในชีวิต นายแพทย์ประภาส วีระพล บรรยายพิเศษ ตอกย้ำถึงอันตราย/โทษยาเสพติด พร้อมแนะแนวทางสู่โอกาสแห่งความสำเร็จ
นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีความมุ่งมั่นในการนำวิชาความรู้ที่ทุกคนมีอยู่ ศักยภาพของหน่วยงานทุกหน่วยงานมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้ป่วย” ที่อาจหลงผิดที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้กลับคืนเป็นคนดีและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข
การแก้ไขปัญหาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด โดยการบำบัดรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้เสพผู้ติดยาสามารถเลิกใช้ยาเสพติดได้นั้น กระบวนการบำบัดและฟื้นฟูโดยหลักการสมัครใจบำบัดที่จะดำเนินการนี้ ถือเป็นวิธีการที่มีความเหมะสมและเอื้ออำนวยให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาสามารถพัฒนา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้ด้วยตนเอง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง อีกทั้งการฝึกอบรม ยังมีการติดตามพฤติกรรมอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี และจัดให้มีการฝึกวิชาชีพเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีวิชาชีพติดตัวเพื่อประกอบอาชีพสุจริตหลังจากเสร็จสิ้นจากการฝึกอบรม ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อไม่ให้กลุ่มบุคคลหล่านี้หวนคืนกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2558 ศุนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครพนม (ศอ.ปส.จ.นพ.) มีเป้าหมายในการฝึกอบรมบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ตามโครงการ “โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองฝ่ายปกครองจังหวัดนครพนม” จำนวน 5 รุ่น ๆ ละ 60 คน รวม 300 คน โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ได้ศึกษาเรียนรู้โดยเฉพาะด้านการเกษตรแบบผสมผสาน วิชาชีพด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปกับกระบวนการทางวิชาการ โดยมีแผนในการฝึกอบรม รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 558 รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-23 มีนาคม 2558 รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 10 เมษายน 2558 รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2558 และรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 8-22 พฤษภาคม 2558
“การฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 1/2558 ในครั้งนี้ มีผุ้เสพ/ผู้ติด หรือกลุ่มเสี่ยงที่ผ่านการคัดกรองจากทุกอำเภอ ที่มีความสมัครใจจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 60 คน อำเภอละ 5 คน สำหรับครูฝึกและวิทยากร ได้รับความอนุเคราะห์จากส่วนรราชการ หน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี ประกอบด้วย ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม กอ.รมน.จว.นพ. (ฝ่ายทหาร) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โรงพยาบาลนครพนม โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครพนม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครพนม เรือนจำกลางนครพนม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษประถมศึกษานครพนม เขต 1 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครพนม ที่ทำการปกครองจังหวัดนครพนม และกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดนครพนม ที่ 1” นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ กล่าว
ภายหลังพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด “โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองฝ่ายปกครองจังหวัดนครพนม” อย่างเป็นทางการ อาจารย์นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยได้ย้ำถึงโทษและอันตรายของยาเสพติด พร้อมกับให้ข้อคิดว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ทุกคนจะหลุดพ้นห่างไกลจากยาเสพติดและก้าวไปสู่ความสำเร็จเป็นคนดีของสังคมต่อไป
อนึ่ง รัฐบาลโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 โดยยึดนโยบาย แนวทางตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผนวกกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานปกติและในส่วนที่เป็นจุดเน้นในปี 2558 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณผู้เข้าสู่กระบวนการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด นำคนออกจากวงจรการกระทำผิดยาเสพติดให้เห็นอย่างชัดเจน จนไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชน จึงได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในปี 2558 จำนวน 8 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตรที่ 2 การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ ผู้ติดยาเสพติด กำหนดเป้าหมายให้ลดจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ โดยเน้นการดำเนินงานในเชิงคุณภาพและนำผู้เสพาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานและมีความเหมาะสมกับผู้เสพยาเสพติดในระบบสมัครใจเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถกลับมาดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก