กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--บีโอไอ
- บอร์ดบีโอไอไฟเขียวส่งเสริมฯลงทุน 20,000 ล้านบาท ให้บางจากผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ส่วนปตท.ได้ส่งเสริมฯโรงแยกก๊าซ
- ด้านฮอนด้า , เด็นโซ่ ได้ส่งเสริมลงทุน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รองรับตลาดรถยนต์ไทยขยายตัว
- กิจการลงทุนด้านขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ 4 โครงการได้ส่งเสริมถ้วนหน้า ทั้งทางเรือ และอากาศ มูลค่าลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 15 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 40,580.4 ล้านบาท ดังนี้
- กิจการผลิต FUEL INJECTION PUMP ของบริษัทสยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้รับส่งเสริมเพื่อขยายกิจการในการผลิตชิ้นส่วนในระบบ COMMON RAIL เงินลงทุน 932 ล้านบาทได้แก่ FUEL INJECTION PUMP ปีละประมาณ 120,000 ชิ้น, DIESEL INJECTOR ปีละประมาณ 480,000 ชิ้น และ COMMON RAIL ปีละประมาณ 132,000 ชิ้น โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี
โครงการนี้เป็นการผลิตชิ้นส่วนหลักใน ELECTRONIC FUEL INJECTION SYSTEM ซึ่งจัดเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยผลิตภัณฑ์ตามโครงการนี้เป็นอุปกรณ์หลักของระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงระบบ COMMON RAIL DIRECT INJECTION (CDI) ในเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งระบบ COMMON RAIL นี้จะช่วยทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้ดีกว่าระบบเดิม ปัจจุบันผู้ผลิตรถกระบะในประเทศหันมาใช้ระบบนี้แล้วทั้งหมด อีกทั้งยังรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรถกระบะในประเทศได้แก่ โตโยต้า, อีซูซุ, มิตซูบิชิ และนิสสัน
- กิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับยานพาหนะของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 1,819.6 ล้านบาท ขอรับการส่งเสริมผลิตเสื้อสูบเครื่องยนต์ (Cylinder Block) ปีละประมาณ 180,000 ชิ้น และฝาสูบเครื่องยนต์ (Cylinder Head) ปีละประมาณ 180,000 ชิ้น โดยจะตั้งโรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ. อยุธยา
โครงการนี้เป็นการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เพื่อรองความต้องการเครื่องยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตของฮอนด้าในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งยังนำมาใช้ในการประกอบเครื่องยนต์ทั้งรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ของฮอนด้า ประมาณร้อยละ 40 และส่งออกร้อยละ 60 เพื่อป้อนให้โรงประกอบรถยนต์ของฮอนด้าในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย และปากีสถานเป็นต้น
- กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (SOLAR CELLS) และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (SOLAR CELL MODULES) ของ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด(มหาชน) เงินลงทุน 1,380 ล้านบาท ขอรับส่งเสริมเพื่อขยายการลงทุนในกิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (SOLAR CELLS) ปีละประมาณ 7,000,000 ชิ้น (25 เมกะวัตต์) หรือนำไปผลิตต่อเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (SOLAR CELL MODULES) ปีละประมาณ 195,000 แผง โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่ จ. นครราชสีมา
โครงการนี้จะผลิตเซลล์แสงอาทิตย์(SOLARCELLS) ชนิด POLY CRYSTALLINE ซึ่งจัดเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ มีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ กระทรวงพลังงาน,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าภูมิภาคการไฟฟ้านครหลวง และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
- กิจการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ของบริษัท พี.อี.ที. พลัส จำกัด เงินลงทุน 983 ล้านบาท โดยจะทำการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล กำลังการผลิตปีละประมาณ 10,300 ตัน จำหน่ายภายในประเทศทั้งสิ้น ตั้งโรงงานอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค 2 จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา
โครงการนี้ จะทำการผลิตเม็ดพลาสติกกรีไซเคิล ชนิด พี.อี.ที. โดยมีการใช้ขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว (PET) เป็นวัตถุดิบและนำมาหลอมเป็นเม็ดพลาสติกใช้เทคโนโลยีแบบใหม่เป็นรายแรกของเอเชีย ซึ่งจะมีคุณภาพเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ หรือ คุณภาพ FOOD GRADE และระบบการผลิตดังกล่าวยังได้รับการรับรองว่าปลอดภัย โดยองค์การอาหาร และยาของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าสามารถรีไซเคิลเม็ดพลาสติก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย
- กิจการผลิตเม็ดพลาสติก ของบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 4,484 ล้านบาท ขอรับส่งเสริมเพื่อขยายกิจการผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิด LOW DENSITY POLYETHYLENE (LDPE) และเม็ดพลาสติกชนิด LETHYLENE VINYL ACETATE (EVA) กำลังการผลิตปีละประมาณ 100,000 ตัน โดยตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
โครงการนี้ เป็นการขยายกิจการเพื่อผลิตเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทยังมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ STIRED AUTOCLAVE ที่ทันสมัยซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตสนองความต้องการของตลาดได้ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นจะผลิต LDPE ได้เพียงชนิดเดียว
- กิจการผลิต FATTY ALCOHOL ETHOXYLATE ของบริษัท ไทย อีทอกวีเลท จำกัด เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยจะทำการผลิต FATTY ALCOHOL ETHOXYLATE ปีละประมาณ 50,000 ตัน โดยจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 50 ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จ.ระยอง
โครงการนี้ ทำการผลิตภัณฑ์ FATTY ALCOHOL ETHOXYLATE ซึ่งเป็นตัวชำระล้างและดูดไขมันรวมทั้งความสกปรกออกจากพื้นผิวหรือร่างกาย เพื่อรองรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศและภูมิภาคเอเชียที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการผลิตดังกล่าวยังเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่สำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภท แชมพู สบู่เหลว ผงซักฟอก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการผลิต FATTY ALCOHOL ETHOXYLATE ในประเทศไทย โดย ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไทยยังต้องนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนีและมาเลเซีย
- กิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ของบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ขอรับส่งเสริมขยายกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ 28,500 บาร์เรล/วัน และก๊าซหุงต้ม 18,450 ตัน/วัน โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
ตามโครงการ จะจำหน่ายในประเทศทั้งสิ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะมีไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งหากไม่มีการเพิ่มปริมาณการกลั่นในประเทศ จะต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น ส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลีกหน้าสถานีบริการสูงขึ้นตามไปด้วย และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
โครงการนี้เป็นการขยายกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นน้ำมัน โดยการนำเอาน้ำมันเตาที่มีมูลค่าต่ำมากลั่นอีกครั้งให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น
- กิจการผลิตกระดาษคราฟท์ของ บริษัท เอลีทคราฟท์เปเปอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจการผลิตกระดาษ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,970 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ จ.สระแก้ว เขต 3 มีกำลังผลิตกระดาษคราฟท์ ปีละประมาณ 128,000 ตัน กระดาษคราฟท์ที่ผลิตได้จะนำไปใช้เป็นกระดาษทำผิวกล่องและลอนลูกฟูก ประมาณ 50% จะจำหน่ายให้บริษัทในเครือ ส่วนที่เหลือ 40%จำหน่ายให้บริษัทผู้ผลิตกล่องกระดาษอื่นๆในประเทศ อีก 10% ส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์และจีน
- กิจการผลิตผ้าถักของบริษัท รวยไทย ไฟเบอร์อินดัสทรี (ไทยแลนด์)จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอหรือชิ้นส่วน คือ การผลิตผ้าฟอกย้อมและแต่งสำเร็จ ทำการผลิตผ้าถักคุณภาพสูงเพื่อจำหน่ายให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าส่งออก ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 495 ล้านบาท เป็นโครงการลงทุนร่วมกันระหว่างฝ่ายไทย20%และไต้หวัน 80%ในนามของ RUEY TAY FIBRE INDUSTRY CO.,LTD ตั้งโรงงานที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
- กิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ได้รับส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน ในกิจการโรงแยกก๊าซ มีกำลังการผลิตก๊าซอีเทน ปีละประมาณ 800,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,739 ล้านบาท เป็นหุ้นไทยส่วนใหญ่ ตั้งโรงงานที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เขต 2
ปตท. เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติรายเดียวในประเทศ กิจการเดิมของ ปตท.มีโรงแยกก๊าซรวม 5 โรง ได้รับส่งเสริม 1 โรง ที่ จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีกำลังการแยกก๊าซอีเทน 1,037,000ตัน/ปี และมีโรงแยกก๊าซบริษัทร่วมทุนไทย-มาเลเซีย ในเครือของปตท.ได้รับการส่งเสริมในนาม ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย)
โครงการที่ได้รับการส่งเสริมใหม่นี้ จะเป็นการนำเอา Sale Gas ของโรงแยกก๊าซเดิม ที่ยังคงมีอีเทนปะปนอยู่มาแยกก๊าซอีเทน เพื่อเป็นวัตถุดิบให้โรงงานปิโตรเคมีของ บริษัท พีทีที โพลีเอทิลีน จำกัด เพื่อผลิตเอทิลีนและเม็ดพลาสติก
- กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ของบริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 256.5 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 995 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ อ. ปราสาท จ.สุรินทร์ เขต 3 โครงการนี้เป็นบริษัทในเครือ บริษัทน้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ใช้ระบบ Steam Turbine ในกระบวนการผลิตและใช้กากอ้อยที่ได้จากโรงงานน้ำตาลของบริษัทแม่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อผลิตไอน้ำ (Boiler) ขนาด170 ตัน/ชั่วโมง ไอน้ำที่ผลิตได้จะขายให้บริษัทแม่เท่านั้น ขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ขายให้บริษัทแม่ และบริษัท กฟผ. โครงการนี้จัดว่าเป็นโรงไฟฟ้าจากชีวมวล เนื่องจากผลิตไฟฟ้าโดยใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงสามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
- กิจการขนส่งทางเรือ ของบริษัท ทอร์ เอนเนอร์ยี ชิปปิ้ง จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการขนส่งมวลชนและสินค้าขนาดใหญ่ในกิจการขนส่งทางเรือ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ใช้เรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carrier) จำนวน 1 ลำ ขนาด 42,529 DWT (25,676 GT) อายุ 11 ปี จากประเทศญี่ปุ่น โดยจะให้บริการเดินเรือบรรทุกสินค้าทั่วไปในลักษณะไม่ประจำเส้นทางระหว่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย,มาเลเซีย ไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้
- กิจการขนส่งทางเรือ จำนวน 2 โครงการ ของบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งมวลชนมวลชนและสินค้าขนาดใหญ่ ในกิจการขนส่งทางเรือ เงินลงทุนรวม 2 โครงการ 2,303.4 ล้านบาท ทั้งสองโครงการเป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 30,832 DWT ( 23,922 GT) ระวางบรรทุก 2,378 ทีอียู เป็นเรือต่อใหม่จากประเทศญี่ปุ่นโครงการละ 1 ลำ ราคาลำละ 1,151.7 ล้านบาท ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลแบบประจำเส้นทาง มีตารางเดินเรือที่แน่นอนและให้บริการเส้นทางเดียวกัน ทั้ง 2 ลำ คือ ระหว่างสิงคโปร์ กับ ออสเตรเลีย
- กิจการส่งเสริม(ขยายกิจการ)ขนส่งทางอากาศ ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการ ในการเช่าเครื่องบินใหม่จากประเทศฝรั่งเศสเป็นเครื่องไอพ่นแบบAirbus 320 ขนาด 164-200 ที่นั่งจำนวน 2 ลำ หรือเครื่องBoeing จากสหรัฐอเมริกา ในระยะเวลาเช่า 7 ปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,479.4 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการเสริมฝูงบินเดิม เพื่อเพิ่มความถี่ของการบินให้มากขึ้น--จบ--