กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สำนักเลขาธิการ เบรีย ภูมิภาค
Better Rice Initiative Asia (เบรีย) โครงการภายใต้องค์การความร่วมมือด้านอาหารของเยอรมัน หรือ German Food Partnership (GFP) เมื่อเร็วๆนี้ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นที่กรมการข้าว ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนกิจกรรม กับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าข้าวไทย เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การผลิตข้าวแห่งชาติของประเทศ
ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานที่ประชุม พร้อมนำเสนอโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตข้าวของประเทศไทย ดร. อภิชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณผลผลิตข้าวเกินความต้องการ ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาได้รับความเดือดร้อน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำในพื้นที่ไม่เหมาะสม การผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market ยังมีน้อย
แนวคิดโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2558-2562 ส่งเสริมให้เปลี่ยนจากการทำนาแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ในลักษณะชุมชนแบบมีส่วนร่วม มีผู้จัดการประจำแต่ละแปลงเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานภายในแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ใช้เทคโนโลยีเฉพาะพื้นที่ เชื่อมโยงกับตลาด วัตถุประสงค์ของโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ประการแรก เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต ทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ประการที่สอง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานของข้าว จากการปรับโครงสร้างการผลิตเข้าสู่ระบบ zoning และประการที่สาม เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ งบประมาณโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ประกอบด้วย เงินงบประมาณ 5,409.12 ล้านบาท เงินกู้ 12,519.43 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรจำนวน 236,155 ครัวเรือน จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ในปี 2562 ต้นทุนการผลิตต่อตันจะลดลง 3,000 บาทต่อตัน ในขณะที่รายได้สุทธิต่อครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 27,235 บาทโดยเฉลี่ย
การช่วยเหลือชาวนาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 1,000 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน วงเงิน 40,000 ล้านบาท มาตรการการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งปี 2557/2558 วงเงิน 2,377.79 ล้านบาท โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 1 ล้านบาทต่อตำบล จำนวน 3,052 ตำบล
ในประเทศไทย กรมการข้าว และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการ เบรีย โดยความร่วมมือกับ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด และ ไบเออร์ ครอปซายน์ กิจกรรมของ เบรีย มี สี่ องค์ประกอบ คือ การฝึกอบรมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน การเพิ่มความตระหนักในการผลิตอย่างยั่งยืนผ่านสื่อสารมวลชน การลดความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว การเชื่อมโยงการตลาดและการส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ ‘Young Agripreneurs’
เมื่อปีที่แล้ว เบรีย และ บีเอเอสเอฟ เปิดตัวรายการแข่งขันเรียลลิตี้ทางทีวีภายใต้ชื่อ 'เกษตรกรรักความปลอดภัย' ประกอบด้วยเกษตรกร สองทีมจากจังหวัดอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมในการแข่งขัน ซึ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชด้วยความรับผิดชอบและอย่างเหมาะสม โดยแข่งขันกันในการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว ที่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่โรงเรียนชาวนาภายในกรมการข้าว ให้กับเพื่อนเกษตรกรในชุมชนโดยรอบ การแข่งขันเรียลลิตี้นี้ออกอากาศในรายการ ‘เกษตรกรยิ้ม’ ทางช่อง ‘ฟาร์มแชนแนล’ ในปีนี้ แนวคิดของรายการทางโทรทัศน์นี้ จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการพืชแบบบูรณาการ (Integrated Crop Management) และให้ความสำคัญกับการจัดการเมล็ดพันธุ์ การจัดการดินและโภชนาการของพืช และการอารักขาพืช
ในปี 2558 เบรีย และ กรมการข้าว จะเริ่มต้นการฝึกอบรมเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ไบเออร์ ครอปซายน์ ความสำเร็จของกิจกรรมนี้ จะได้รับการวัดโดยใช้ตัวชี้วัดดังต่อไปนี้ : 80% ของผู้นำเกษตรกร 300 คน นำความรู้ใหม่เรื่องการปฏิบัติการเกษตร ที่แนะนำในการฝึกอบรมเกษตรกร ไปสู่การใช้ 60% ของเกษตรกร 10,000 คน ที่ผ่านการฝึกอบรม นำการปฏิบัติการเกษตรที่แนะนำไปประยุกต์ใช้ และคำแนะนำจากการฝึกอบรมสามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น 20% เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของชาวนาในจังหวัด