กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมกราคม 2558 จำนวน 1,161 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 28.9,40.1 และ 31.0 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 52.7,11.5,11.0,11.4 และ 13.4 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 85.0 และ 15.0 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 91.1 ลดลงจากระดับ 92.7 ในเดือนธันวาคม โดย ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนมกราคม ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาส 4 ของปี 2557 โดยเกิดจากปัจจัยลบจากความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคเกษตร รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกไทย อีกทั้งภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับในปี 2558 จะเริ่มเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น การส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน และการบริหารความเสี่ยง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.4 ลดลงจาก 101.7 ในเดือนธันวาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนมกราคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 82.2 ลดลงจากระดับ 87.9 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.9 ลดลงจาก 100.9 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 89.6 ลดลงจากระดับ 91.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 ลดลงจาก 101.1 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 101.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 101.6 ลดลงจากระดับ 103.4 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม
ภาคกลาง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 93.4 ลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (เนื่องจากผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ และครีมกันแดด มียอดขายในประเทศและยอดส่งออกไปประเทศลาวและเวียดนามลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทรถไถนา เครื่องสูบน้ำ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตกรมีรายได้ลดลง) อุตสาหกรรมก๊าซ (เนื่องจากยอดขายก๊าซอุตสาหกรรมในประเทศลดลง, ขณะเดียวกันก๊าซหุงต้มในครัวเรือนมียอดขายลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีการปรับราคาขึ้น) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประเภทนมถั่วเหลือง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง มียอดการส่งออกไป สหรัฐอเมริกา ยุโรป อาเซียนเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 101.9 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.5 ลดลงจากระดับ 95.8 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทผ้าผืน มียอดส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่น และยุโรปลดลง ขณะเดียวกันการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากสหภาพยุโรป ทำให้ไทยต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และเสียเปรียบประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์) อุตสาหกรรมสมุนไพร (สินค้าประเภทสมุนไพรแปรรูป น้ำมันหอมระเหย น้ำมันมะพร้าว มียอดขายในประเทศลดลง, สมุนไพรประเภทยาบำรุงร่างกาย มียอดขายในประเทศและต่างประเทศลดลง เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป และออสเตรเลีย) หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ ของที่ระลึก มียอดสั่งซื้อในประเทศลดลง, ผลิตภัณฑ์จักสาน มียอดสั่งซื้อจากยุโรปและตะวันออกกลางลดลง) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้แปรรูป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโปรโมทชั่นในช่วงต้นปี, และมียอดส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.8 ลดลงจากระดับ 98.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 86.3 ลดลงจากระดับ 96.6 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (สินค้าประเภทเสื้อกันหนาว มียอดขายในประเทศลดลง, สินค้าประเภทเสื้อยืดและเสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดส่งออกไปประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียลดลง) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์ประเภทโบร์ชัวร์ สิ่งพิมพ์บันเทิง มียอดสั่งซื้อในประเทศลดลง ,ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์มียอดการส่งออกไปจีน และญี่ปุ่นลดลง) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินก่อสร้าง หินตกแต่ง มียอดขายในประเทศลดลง, ผลิตภัณฑ์หินอ่อน หินประดับ มียอดการส่งออกไปประเทศจีนลดลง) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ และคอนกรีตบล็อค มีคำสั่งซื้อในประเทศและมียอดการส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น) ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.9 ลดลงจากระดับ 100.4 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 98.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (มียอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากมียอดขายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และออสเตรเลียเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์มียอดขายในประเทศ และยอดส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (ผลิตภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม, สินค้าประเภท Semiconductor, Monolithic IC มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับตลาดหลักของอุปกรณ์ สื่อสารอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เริ่มปรับตัวดีขึ้น) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องประดับเงินและเพชร มียอดการส่งออกไปยังประเทศในตะวันออกกลางและเยอรมนี ลดลง, ผลิตภัณฑ์ประเภทพลอย และทับทิม มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ลดลง) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.2 ลดลงจาก 103.8 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบค่าดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 86.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 77.8 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยาง (ผลิตภัณฑ์ยาง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์, ผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ยางแผ่นรมควัน มียอดการส่งไปประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (อาหารทะเลแช่แข็งประเภทกุ้ง ปลาหมึก และปลาทูน่า มียอดส่งออกไปยังตลาดยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (มียอดสั่งซื้อไม้แปรรูปจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศเพิ่มขึ้น ,ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูป มียอดส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคใต้ ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (เนื่องจากสินค้าประเภทสารกำจัดศัตรูพืชมียอดขายในประเทศลดลง) ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.3 ลดลงจากระดับ 103.0 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนมกราคม 2558 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนธันวาคม ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนธันวาคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 88.6 ปรับตัวลดลงจาก 92.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมการพิมพ์และ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.8 ลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม อยู่ที่ 105.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.7 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.2 ลดลงจากระดับ 99.2 ในเดือนันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมกราคมนี้ คือ อยากให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) รวมถึงเร่งส่งเสริมและ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้นวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าด้วย