กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มและสถานการณ์ของน้ำมันโลกในปี 2558 ว่า ราคาน้ำมันดิบ ดูไบ น่าจะมีราคาอยู่ในช่วง 50 - 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงอย่างมากจากปี 2557 ที่ราคาดูไบเฉลี่ย 97 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากข้อมูลล่าสุดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะขยายตัวที่ระดับ 9 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยมีความต้องการหลักจากเอเชีย สำหรับอุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะ สหรัฐฯ ที่มีการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในขณะที่มีโรงกลั่นใหม่เพิ่มขึ้นทั้งจากตะวันออกกลางและภูมิภาคเอเชียราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะมีโรงกลั่นเก่าปิดตัวลงกว่า 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้กำลังการกลั่นสุทธิที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะทรงตัว อยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรก ขณะทีค่าการกลั่นก็น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ดี
หลังจากนั้นมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังอยู่ที่ระดับ 60-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจาก การชะลอการลงทุนของแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่มีต้นทุนสูงและไม่คุ้มทุนที่ระดับราคาในปัจจุบัน จากทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปัจจุบันทำให้ผู้ค้าน้ำมันทำการเช่าเรือเก็บน้ำมันลอยลำกลางทะเล (Floating Storage) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับ 60 ล้านบาร์เรลในเดือนมกราคม
สำหรับผลกระทบราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมาก คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราที่ดีขึ้นในปี 2558 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยเองด้วย ยกเว้นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ได้รับผลกระทบทางลบ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง และ รัฐเซีย เป็นต้น
ผลกระทบกับอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศ
คาดว่าปีนี้ อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศ น่าจะปรับตัวดีขึ้น จากการคาดการณ์เศรฐกิจที่เติบโตสูงขึ้น อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปจะเพิ่มมากขึ้นจากราคาที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งจะทำให้มีกำไรจากสต็อคน้ำมัน นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันดิบลดลง ทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) น้อยลงช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน ประกอบกับค่าการกลั่นที่คาดว่าจะดีขึ้น จากการที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคปรับตัวลงช้ากว่าการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ ตลอดจนการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรฐกิจในภูมิภาค
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองในปี 2558 คือการปฎิรูปพลังงาน ที่มีวัตถุประสงค์ให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ