กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--NBTC Rights
รายงานผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขเรื่องร้องเรียน, เรื่องร้องเรียนกรณีการคิดค่าธรรมเนียนในการชำระค่าบริการ, ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว, การพิจารณาแบบสัญญาโทรคมนาคมของล็อกซเล่ย์, อุทธรณ์ของดีแทคเรื่องการจัดส่งรายงานบัญชีแยกประเภท
การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 4/2558 วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ มีหลายวาระน่าจับตา ทั้งเรื่องการรายงานผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขเรื่องร้องเรียน เรื่องร้องเรียนกรณีการคิดค่าธรรมเนียนในการชำระค่าบริการ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว การพิจารณาแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัทล็อกซเล่ย์ และประเด็นดีแทคอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. เรื่องการจัดส่งรายงานบัญชีแยกประเภท
วาระเรื่องรายงานผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขเรื่องร้องเรียน
วาระนี้เป็นการแจ้งผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนตามมติ กทค. ครั้งที่ 19 /2557 ที่กำหนดให้สำนักงานสามารถดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้เองในกรณีเรื่องร้องเรียนที่ กทค. ได้เคยวินิจฉัยเป็นแนวทางไว้แล้ว เรื่องร้องเรียนที่มีการฟ้องร้องต่อศาล และเรื่องร้องเรียนที่ไม่ซับซ้อนต่อการแก้ไข และหากมีเรื่องร้องเรียนใดที่เป็นปัญหา ก็ให้เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อวินิจฉัยเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานได้แก้ไขเรื่องร้องเรียนภายใต้มตินี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 14 เรื่อง ซึ่งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่ายมือถือคิดค่าบริการประเภทเสียงตามโปรโมชั่นเกิน 99 สตางค์ต่อนาที เช่น โปรเดือนละ 250 บาท โทรฟรี 300 บาท ค่าโทรส่วนเกินนาทีละ 1.50 บาท หรือโปรเดือนละ 500 บาท โทรฟรี 800 บาท ค่าโทรส่วนเกินนาทีละ 1.50 บาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการคิดค่าโทรส่วนที่เกินโปรโมชั่นสูงกว่านาทีละ 99 สตางค์ รวมถึงโปรโมชั่นในลักษณะที่คิดค่าบริการเดือนละ 100 บาท โทรฟรี 100 นาที ส่วนเกินนาทีละ 1.50 บาท ซึ่งถือว่าคิดค่าบริการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งส่วนในโปรโมชั่นและนอกโปรโมชั่น
ถึงแม้ว่าผลการตัดสิน สำนักงาน กสทช. จะสั่งให้ค่ายมือถือทั้งบริษัทเอไอเอสและบริษัทดีแทคคืนเงินส่วนต่างที่เรียกเก็บเกินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องเรียน แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าในกรณีของบริษัททรูมูฟซึ่งออกโปรโมชั่นในลักษณะเดียวกัน กลับไม่เข้าข่ายที่ต้องคืนเงินส่วนต่างให้กับผู้ร้องเรียน โดยสำนักงาน กสทช. อ้างว่า เนื่องจากบริษัททรูมูฟไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศที่ห้ามคิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ เรื่องนี้จึงกลายเป็นความลักลั่นในทางกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ที่จะกำกับดูแลการคิดอัตราค่าบริการเพื่อไม่ให้ค่ายมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็มีโปรโมชั่นในลักษณะนี้อยู่ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคไม่ร้องเรียนก็จะไม่ได้เงินในส่วนที่ถูกเรียกเก็บเกินนี้คืน จึงเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ควรมีการดำเนินการบังคับทางปกครองในกรณีที่ค่ายมือถือละเมิดกติกา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงภาพรวมด้วย มิเช่นนั้นก็จะเป็นเพียงการไล่แก้ปัญหารายกรณี และแม้แต่ผู้ร้องเรียนจะได้รับการแก้ปัญหาในอดีต แต่ในอนาคตก็อาจต้องเผชิญปัญหาเดิมได้อีก
วาระเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาการคิดค่าธรรมเนียมในการชำระค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
วาระเรื่องร้องเรียนนี้มีเหตุจากผู้ใช้บริการรายหนึ่งซึ่งเดิมเป็นลูกค้าค่ายมือถือยี่ห้อฮัทช์ และได้รับการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าบริการผ่านทุกช่องทางโดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ต่อมาเมื่อบริษัท เรียล มูฟ จำกัด มาซื้อกิจการของบริษัทฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ผู้ใช้บริการรายนี้ก็ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าบริการเช่นเดิม กล่าวคือต้องเสียค่าธรรมเนียมในการชำระค่าบริการด้วย ทำให้ในแต่ละเดือนต้องจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริง ภายหลังเมื่อร้องเรียนไปยังคอลล์เซ็นเตอร์ของบริษัท เรียล มูฟ ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จนกลายเป็นเรื่องร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช.
กรณีนี้ทางบริษัท เรียล มูฟ ชี้แจงว่า ถ้าผู้ใช้บริการชำระค่าบริการผ่านศูนย์บริการลูกค้าของบริษัท ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการชำระค่าบริการ แต่ถ้าผู้ใช้บริการชำระผ่านช่องทางอื่น การเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการเรียกเก็บจากผู้ให้บริการที่เป็นผู้รับชำระค่าบริการแทน และเป็นไปตามอัตราที่ผู้ให้บริการรับชำระค่าบริการต่างๆ กำหนด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทางบริษัท ถึงกระนั้น บริษัท เรียล มูฟ แจ้งว่ายินดีปรับลดค่าบริการให้กับผู้ร้องเรียนทดแทนค่าธรรมเนียมที่ผู้ร้องเรียนเคยชำระไปเดือนละ 15 บาท เป็นจำนวน 18 เดือน คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 270 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการรายนี้ไม่ยินยอม เพราะโดยวัตถุประสงค์ต้องการให้บริษัทคืนสิทธิการชำระค่าบริการตามที่ใช้จริงโดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
เรื่องนี้นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้บริโภคถูกรอนสิทธิจากการที่มีการปรับเปลี่ยนผู้ให้บริการตามกระบวนการทางธุรกิจที่ผู้บริโภคไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมวินิจฉัยว่า การที่บริษัท เรียล มูฟ มาซื้อกิจการ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาใหม่ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจึงไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาใหม่ก็จะต้องไม่ใช่การรอนสิทธิผู้บริโภค ดังนั้นบริษัท เรียล มูฟ จึงต้องรับช่วงต่อจากผู้ให้บริการเดิม ทั้งสิทธิและหน้าที่ตามเงื่อนไขสัญญาเดิมด้วย การที่เดิมผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการชำระค่าบริการมาตลอดนั้น จึงถือเป็นสัญญาเดิมที่บริษัท เรียล มูฟ ต้องรับปฏิบัติ
แม้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมจะวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ แต่มติของที่ประชุม กทค. ถือเป็นที่สิ้นสุด ก็คงต้องตามดูว่าคำตัดสินของ กทค. จะคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคและคล้อยตามความเห็นของคณะอนุกรรมการข้างต้นหรือไม่
วาระการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว
สืบเนื่องจากมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2557 เห็นชอบหลักการให้ปรับปรุงเงื่อนไขและการขอใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โดยเบื้องต้นกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุไม่เกิน 180 วัน และสามารถต่อได้ไม่เกิน 90 วัน แต่ให้นำไปรับฟังความคิดเห็นถึงความจำเป็นและระยะเวลาของการอนุญาต
เหตุผลที่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาปรับปรุง เนื่องจากนับตั้งแต่ที่มีการออกประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราวเมื่อปี 2548 ปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันในระยะเวลา 90 วันตามที่ประกาศกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องขอต่อใบอนุญาตออกไปอีก 90 วัน โดยสาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเพราะติดปัญหาเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ จึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงประกาศ อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกมุมหนึ่ง ตามประกาศเดิมที่อนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตก็สามารถต่อใบอนุญาตได้อีก 90 วัน รวมเวลาทั้งหมดเป็น 180 วัน ปรากฏว่าที่ผ่านมาผู้ขอรับใบอนุญาตต่างก็สามารถดำเนินการทดลองหรือทดสอบได้สำเร็จเกือบทุกกรณี ซึ่งสะท้อนว่าระยะเวลา 180 วันนั้นเพียงพอ ดังนั้นเมื่อแก้ไขประกาศฯ ขยายเวลาให้ตั้งแต่ต้น จาก 90 วันเป็น 180 วันแล้ว จึงมีคำถามว่า การเปิดช่องเช่นเดิมว่าให้ขอขยายระยะเวลาได้อีก 90 วันยังคงจำเป็นหรือไม่ หรือควรเปิดช่องเฉพาะในกรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัยเท่านั้น เพื่อมิให้เป็นการนำคลื่นความถี่ไปถือครองนานเกินไป
วาระขอความเห็นชอบแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
วาระพิจารณาแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการในลักษณะเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าแก่ผู้ใช้บริการ มีรายละเอียดของข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้ใช้บริการ 2 เรื่องที่น่าจับตา คือเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะขอระงับการใช้บริการชั่วคราว และระยะเวลาในการยื่นคำขอเพื่อเปิดบริการใหม่โดยใช้เลขหมายเดิมในกรณีที่โทรศัพท์สูญหาย
เรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะขอระงับการใช้บริการชั่วคราวยังคงเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ ทั้งนี้ ในแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมที่เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ระบุเงื่อนไขเรื่องการขอระงับใช้บริการชั่วคราวว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็น ผู้ใช้บริการมีสิทธิขอระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน…” อย่างไรก็ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้มีการออกประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการในการขอระงับบริการชั่วคราวได้เช่นกัน เพียงแต่ในการนี้ มีการกำหนดเพิ่มเติมว่า “ให้ผู้ให้บริการจะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงที่ยินยอมให้ผู้ใช้บริการระงับการให้บริการโทรคมนาคมชั่วคราวไว้ในแบบสัญญาด้วยก็ได้” ขณะเดียวกัน พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เองก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาประกอบการพิจารณาสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมด้วย” ดังนั้นการกำหนดแบบสัญญาข้อนี้จึงควรคำนึงถึง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฯ ด้วย ซึ่งก็คือกำหนดให้สามารถขอระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน แทนที่จะกำหนดกรอบเวลาสูงสุดไว้ว่าไม่เกิน 30 วัน
สำหรับเรื่องระยะเวลาในการยื่นคำขอเพื่อเปิดบริการใหม่โดยใช้เลขหมายเดิมในกรณีที่โทรศัพท์สูญหายหรือถูกโจรกรรม ในแบบสัญญากำหนดให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิยื่นคำขอเปิดใช้บริการใหม่โดยใช้เลขหมายเดิมได้ภายในเวลา 15 วัน ซึ่งสำนักงาน กสทช. เห็นว่าควรแก้ไขระยะเวลาจาก 15 วัน เป็น 30 วันนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริการเลขหมายโทรคมนาคมกำหนดให้ผู้ได้รับการจัดสรรเลขหมายจะสามารถนำเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สิ้นสุดเงื่อนไขการให้บริการกลับมาให้บริการใหม่ได้ ต้องพ้นระยะเวลา 90 วัน นั่นหมายความว่าควรที่จะกำหนดสิทธิให้ผู้ใช้บริการสามารถยื่นคำขอเพื่อเปิดใช้บริการใหม่โดยใช้เลขหมายเดิมได้ภายในเวลา 90 วันด้วยหรือไม่ เนื่องจากเลขหมายดังกล่าวจะยังไม่มีการนำไปเปิดให้บริการกับผู้ใช้บริการรายใหม่ภายในระยะเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว
วาระพิจารณาอุทธรณ์ของดีแทคเรื่องการจัดส่งรายงานบัญชีแยกประเภทปีบัญชี 2556
วาระนี้เป็นการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเลขาธิการ กสทช. กรณีมีคำสั่งให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จัดส่งรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมของปีบัญชี 2556 ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2555 กำหนดให้ผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาดต้องจัดทำและนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทประจำปีที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อสำนักงาน กสทช. ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชีของทุกปี โดยบริษัทดีแทคเป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทเนื่องจากเข้าเกณฑ์เป็นผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด อย่างไรก็ตาม บริษัทดีแทคไม่ได้นำส่งรายงานภายในเวลาที่กำหนด เลขาธิการ กสทช. จึงมีหนังสือลงวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ให้บริษัทนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทภายใน 30 วัน ซึ่งบริษัทดีแทคได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
เรื่องการบังคับให้ผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาดจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทเป็นปมปัญหาคาราคาซังมานาน โดยบริษัทดีแทคได้เคยยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่ให้บริษัทดีแทคนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมของปีบัญชี 2555 มาแล้ว ซึ่งที่ประชุม กทค. พิจารณาแล้วมีมติยืนตามคำสั่งเลขาธิการ กสทช. อีกทั้งก่อนหน้านี้บริษัทดีแทคก็ยังไม่ได้นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมของปีบัญชี 2554 พร้อมทั้งได้อุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ที่ให้บริษัทดำเนินการจัดทำและนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทของปีบัญชี 2554 และยื่นฟ้องเพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 และคำสั่งเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1234/2556 อีกด้วย
ส่วนในประเด็นที่มีการกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งโดยบริษัทดีแทคอ้างว่าบริษัทเป็นเพียงผู้รับสัมปทาน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุญาตที่กำหนดไว้ในประกาศ กทช. ซึ่งข้ออุทธรณ์ก็เคยมีการนำเข้าที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2557 และมีการวินิจฉัยไปแล้วว่า แม้บริษัทดีแทคจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดบนพื้นฐานของหลักการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม จึงเป็นหน้าที่ที่บริษัทดีแทคต้องนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภท ด้วยเหตุนี้ คำสั่งของเลขาธิการ กสทช. จึงชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมติที่ประชุม กทค. หนนี้ก็คาดว่าน่าจะยืนตามมติเดิม
อนึ่ง วัตถุประสงค์ของการกำหนดให้จัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทก็เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคม และเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม