กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
แผ่นดินไหวนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้าใกล้ชีวิตคนไทยและต้องทำความรู้จักมากยิ่งขึ้น ใกล้ครบรอบ 1 ปีของภัยพิบัติแผ่นดินไหวภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวิติศาสตร์ไทย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่เกิดในจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำให้ 4 โรงเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระกรุณาธิคุณ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้าง 4 อาคารเรียนหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม สำหรับ 4 โรงเรียน โดยทรงมอบหมายให้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ออกแบบและเป็นที่ปรึกษาในการก่อสร้าง โดยใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัยเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ วสท.ยังได้จัดสัมมนาความรู้ด้านวิศวกรรมแก่ช่างท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผ่านบริการคลินิกช่างอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์(Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ( วสท.) จัดงานอาคารเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ เพื่อเยาวชนในพื้นที่แผ่นดินไหวเชียงราย ณ อาคาร วสท.ได้กล่าวว่า “นับเป็นพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่เยาวชนและพสกนิกรในภาคเหนือที่ประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว จึงเป็นที่มาของการสร้างอาคารเรียนพระราชทาน ซึ่งนับเป็นต้นแบบอาคารเรียนต้านแรงแผ่นดินไหวแห่งแรกในประเทศไทย โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนพานพิทยาคม อำเภอพาน เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2558 ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนพระราชทาน สำหรับ 4 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนพานพิทยาคม, โรงเรียนธารทองวิทยาคม อำเภอพาน, โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม และโรงเรียนโป่งแพร่วิทยา อำเภอแม่ลาว ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 มาตราริกเตอร์ ทำให้อาคารเรียนได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้จัดการเรียนการสอนได้ นักเรียนต้องเรียนที่อาคารเรียนชั่วคราว
ปัจจุบันโรงเรียนพานพิทยาคม เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 มีนักเรียนทั้งหมด 2,308 คน มีอาคารเรียน 5 อาคาร ได้รับความเสียหายทั้งหมด แบ่งเป็นความเสียหายลักษณะพอซ่อมแซมได้ 4 อาคาร และลักษณะเสียหายทั้งหลัง 1 อาคาร ส่วนอีก 3 โรงเรียน มีอาคารเรียนเสียหายทั้งลักษณะพอซ่อมแซมได้ กับเสียหายทั้งหลังเช่นกัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติโรงเรียน และแบบจำลองอาคารเรียนพระราชทานทั้ง 4 โรงเรียน ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างอาคารเรียนให้มีความทนทาน สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหว โดยมีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ออกแบบอาคาร พร้อมให้คำแนะนำระหว่างการก่อสร้าง โดยที่โรงเรียนพานพิทยาคม จะก่อสร้างเป็นอาคารเรียน 4 ชั้น ขนาด 24 ห้องเรียน, ส่วนโรงเรียนแม่ลาววิทยาคมเป็นโรงเรียนมัธยมสามัญประจำตำบลดงมะดะ สอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียน 657 คน ซึ่งอาคารเรียนพระราชทาน มีความสูง 3 ชั้น 1 อาคาร, ส่วนโรงเรียนธารทองวิทยา มีนักเรียน 217 คน และโรงเรียนโป่งแพร่วิทยา มีนักเรียน 212 คน เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้รับพระราชทานอาคารเรียน ขนาด 2 ชั้น แห่งละ 1 หลัง
นักเรียนและชาวเชียงรายจะได้อาคารเรียนที่แข็งแรงมั่นคง ด้วยฝีมือของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และจะเป็นสิ่งรำลึกถึงพระเมตตาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีต่อปวงชนชาวไทยเสมอมา นอกจากนี้ที่นี่ยังจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหวสำหรับนักเรียนและชุมชน พร้อมทั้งเป็นอาคารสำหรับการเรียนรู้ให้กับช่างในชุมชนได้เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อเป็นการพัฒนาสิ่งก่อสร้างในอนาคตและเป็นการสืบสานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการโครงสร้างอาคารต้านแรงแผ่นดินไหวอีกด้วย ”
รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anek Siripanichgorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบอาคาร วัสดุและคุณสมบัติเด่นของอาคารต้านแรงแผ่นดินไหวครั้งแรกในประเทศไทย ว่า “อาคารขนาดเล็กส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่ได้ถูกออกแบบมารับแรงกระทำด้านข้างเช่นแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนี้ การออกแบบและเทคโนโลยีที่เราเลือกใช้ให้เหมาะสมกับ 4 อาคารเรียนดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรง มุ่งเน้นความมั่นคงแข็งแรง อาคารไม่เปลี่ยนตำแหน่งมาก (Small target drift) หรือก่อให้เกิดอันตรายกับส่วนประกอบอาคารเช่น ผนัง ที่รุนแรงจากแผ่นดินไหว และต้องสามารถสลายพลังงานจากแผ่นดินไหวได้ โดยเฉพาะในอาคารโครงสร้างเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตแผ่นดินไหวรุนแรงมาก อาคารที่ดำเนินการออกแบบประกอบด้วย 1.อาคารเรียนโครงสร้างเหล็กรูปพรรณสูง 2 ชั้นใช้ระบบรับแรงสั่นสะเทือนเป็นโครงแกงแนงเยื้องศูนย์ (Eccentric Bracing Frame) ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบให้โครงสร้างมีสมรรถนะตามที่ต้องการ (Performance-based design) โดยกำหนดให้อาคารเกิดความเสียหายเล็กน้อยในตำแหน่งที่กำหนด เพื่อสลายพลังงาน และสามารถลดแรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น โดยการใช้ค้ำยันเชื่อมระหว่างเสากับคาน เยื้องศูนย์บริเวณช่วงกลางคาน 2. อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับอาคารเรียนสูง 3 และ 4 ชั้น ใช้กำแพงรับแรงเฉีอน (shear wall) เป็นองค์อาคารรับแรงแผ่นดินไหวแทนเสา ซึ่งจะสามารถกำหนดให้มีความเสียหายหากเกิดขึ้นในกำแพงที่กำหนดไว้ในอาคาร และไม่เกิดความเสียหายกระจัดกระจายจนไม่สามารถควบคุมได้ดังอาคารที่ใช้โครง (Building frame) รับแรงโดยทั่วไป ทั้งนี้อาคารที่ออกแบบในโครงการนี้เป็นอาคารสาธารณะที่สำคัญ จึงคำนวณออกแบบให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมให้เกิดความเสียหายขึ้นเล็กน้อยในอาคารแต่ต้องสามารถใช้อาคารได้ทันที (Immediate occupancy) ในขณะที่อาคารทั่วไปจะออกแบบในเกณฑ์เกิดความเสียหายมากแต่สามารถป้องกันมิให้ผู้ใช้อาคารเสียชีวิต (Life safety)”
รองศาสตราจารย์ สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่ประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวถึงแผนงานก่อสร้าง การควบคุมงานก่อสร้างและกำหนดแล้วเสร็จว่า “ในแผนงานก่อสร้างอาคารเรียนของผู้รับเหมาก่อสร้างเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 โรงเรียนธารทองพิทยาคม และโรงเรียนโป่งแพร่วิทยา เป็นอาคาร 2 ชั้น จะแล้วเสร็จในอีก 8 เดือน ในราวปลายปี 2558 และอีก 2 อาคาร คือ โรงเรียนพานพิทยาคม และโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม เป็นอาคาร 3 ชั้นและ 4 ชั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี และปลายปี 2559 ตามลำดับ ส่วนการควบคุมงานจะมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ทั้ง 4 โรงเรียน ตั้งอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับสภาวะแวดล้อมจากผลกระทบแผ่นดินไหวอย่างมั่นใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้ชีวิตได้อย่างปกติและปลอดภัย โดยอาจจะวางแผนการซักซ้อมเหตุฉุกเฉินจากแผ่นดินไหว เช่น การปฏิบัติตนขณะเกิดแผ่นดินไหว การกำหนดเส้นทางการอพยพและซักซ้อมอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ”