ผลวิจัยชี้เกษตรกรภาคใต้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์น่าพอใจ

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 1998 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--30 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
โรคเอดส์นับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก การแพร่กระจายของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วในบุคคลทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ และทุกอาชีพ มีการคาดการณ์ว่าประเทศในเอเชียจะถูกโรคเอดส์ทำลายอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยคาดว่าปี 2543 จะมีผู้ติดเชื้อเอดส์ราว 3-6 ล้านคน ส่วนมากจะเป็นผู้ชายวัย 15-44 ปี อันเป็นวัยที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแล้ว บุตรที่เกิดมาต้องอยู่ในสภาพทุกข์ทรมานและเสียชีวิตในวัยที่ยังไม่สมควรอีกด้วย
นางจุฑามณี เอี่ยมสุพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แจ้งว่าสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยประเภททั่วไป แก่ รองศาสตราจารย์สถิตย์ นิยมญาติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการวิจัยเรื่อง "ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ และการป้องกันของเกษตรกรวัย 15-44 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท : ศึกษาเฉพาะกรณีของภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย" โดยศึกษาถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ ความรู้ความเข้าใจวิธีการป้องกันโรคเอดส์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนความสัมพันธ์ด้านประชากร สังคม และภูมิศาสตร์ กับความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ กลุ่มตัวอย่างคือ เกษตรกรอายุระหว่าง 15-44 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท (เป็นกลุ่มที่เสียเปรียบในสังคม) ของภาคใต้ตอนกลาง 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง จำนวน 360 คน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถาม
ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ดีว่ากลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์มากที่สุดมี 3 กลุ่ม คือ หญิงบริการ พวกรักร่วมเพศและผู้ใช้ยาเสพย์ติด สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการติดต่อของโรคได้ถูกต้องอย่างน่าพอใจคิดเป็นสัดส่วนคำถามที่ตอบถูกต้องร้อยละ 80 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการหรือการดำเนินของโรคระดับปานกลาง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 50.8-69.2 ตอบคำถามได้ถูกต้อง ร้อยละ 86.3 มีความรู้ความเข้าใจวิธีการป้องกันในสถานการณ์ต่าง ๆ ดีว่า ต้องสวมถุงยางอนามัยหากร่วมประเวณีกับหญิงบริการ เข้าใจวิธีป้องกันภัยเมื่อไปรักษาฟันกับทันตแพทย์ และวิธีป้องกันตนเมื่อไปตัดผมและมีการโกนหนวดโกนเครา ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจการป้องกันโรคเอดส์ดีว่าหากไปเที่ยวหญิงบริการควรใช้ถุงยางอนามัยแต่กลับไม่ใช้และมีเหตุผลว่าการใช้ถุงยางอนามัยทำให้สูญเสียความรู้สึกทางเพศ เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ และไม่เป็นลูกผู้ชายแท้จริง นอกจากนี้ปัจจัยทางประชากร สังคม และภูมิศาสตร์ ซึ่งได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา และระยะทางจากตัวเมือง ล้วนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการติดต่อและการดำเนินของโรคเอดส์
ผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ชัดว่าเกษตรกรใน 3 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการติดต่อของโรคเอดส์สูงอย่างน่าพอใจ ไม่จำเป็นต้องรณรงค์เรื่องนี้เท่าที่ผ่านมา แต่ควรเน้นหามาตราการที่จะทำให้ความรู้ความเข้าใจดังกล่าวยังคงอยู่และไม่ลืมเลือน และต้องเร่งรณรงค์ในเรื่องอาการหรือการดำเนินของโรค การป้องกันในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่เป็นประจำ การให้เกษตรกรชายมีพฤติกรรมทางเพศสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคเอดส์ที่มีอยู่ ตลอดจนมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย เพราะในระยะยาววิธีให้การศึกษาจะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด และประหยัดที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ในการวิจัยคราวต่อไปควรครอบคลุมให้มากกว่านี้ทั้งในเรื่องศาสนาและสถานการณ์ เช่น เมื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะ เมื่อไปเสริมสวย หรือเมื่อสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเอดส์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ