กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--Hill+Knowlton Strategies
- ธุรกิจถ่านหิน: เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มจากประสิทธิภาพการผลิต ผนึกจุดแข็งด้านการตลาดและลอจิสติกส์ระดับภูมิภาค พร้อมขยายงานเพื่อการเติบโต
- ขยายธุรกิจไฟฟ้าโดยกระจายการลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ พร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สมฤดี ชัยมงคล เตรียมรับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ ต่อจาก ชนินท์ ว่องกุศลกิจ โดย ชนินท์จะเป็นกรรมการบริษัทฯ ต่อไป
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2557 รายงานกำไรสุทธิ 82 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2,680 ล้านบาท โดย 1 เหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 32.5 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปี 2556 โดยนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู (จำกัด) มหาชน เปิดเผยว่า “ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน บ้านปูฯ ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดี เรายังทำกำไรและสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถ่านหินที่เหมืองต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย และกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน เหล่านี้สะท้อนถึงศักยภาพของบ้านปูฯ ในการปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
พร้อมกันนี้ นายชนินท์ ยังได้วางยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ ในระยะถัดไปจนถึงปี 2563 ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การผนึกจุดแข็งในธุรกิจถ่านหินที่มีอยู่ในทุกภูมิภาค ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าและพิจารณาการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและแผนการสืบทอดตำแหน่งงานผู้บริหารระดับสูง
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บ้านปูฯ ดำเนินธุรกิจถ่านหินโดยมุ่งเน้นมาตรการลดต้นทุน พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เราได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับภาวะที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกมีความผันผวนมาก เมื่อมาถึงจุดนี้ บ้านปูฯ จึงมีความพร้อมเต็มที่ที่จะคว้าโอกาสใหม่ๆ และก้าวสู่อีกขั้นของการเติบโตไม่ว่าราคาถ่านหินจะปรับตัวอยู่ในระดับใด” นายชนินท์ กล่าว
ตามแผนงานสู่การเติบโตของธุรกิจถ่านหิน บ้านปูฯ มุ่งเพิ่มขยายงาน รวมศูนย์สายงานการตลาด การขาย และลอจิสติกส์(Marketing, Sales & Logistics) ที่สำนักงานแห่งใหม่ในสิงคโปร์ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าถ่านหินบนเวทีโลก โดยเน้นผนึกจุดแข็งด้านความหลากหลายของคุณภาพถ่านหินจากนานาประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ใช้ประสบการณ์ความชำนาญในธุรกิจถ่านหินของบ้านปูฯ เพื่อการบริหารจัดการซัพพลายเชนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การสำรวจ การผลิต เพิ่มมูลค่า จนถึงการส่งมอบถ่านหินสู่ลูกค้า และการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง พัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ก้าวไปอีกขั้น อาทิ การรวมศูนย์การจำหน่ายถ่านหินจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย การผสมถ่านหินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
ในปี 2557 ธุรกิจถ่านหินในสาธารณรัฐอินโดนีเซียภายใต้บริษัท ITM มีต้นทุนการผลิตลดลงถึงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 2556 ด้วยมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้อัตราส่วนการขุดขนดินต่อถ่านหิน (Stripping Ratio) มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดย Stripping Ratio ลดลงเป็น 9.8 เท่า จากเดิม 11.50 เท่าเมื่อปี 2556 นอกจากนี้ บริษัท ITM ยังได้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายถ่านหินและการบริหารท่าเรือเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง และจัดตารางเรือให้สอดคล้องกับการขนส่งเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากความล่าช้าในการขนถ่ายถ่านหินลงเรือใหญ่ (Demurrage Cost)
สำหรับธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียภายใต้บริษัท Centennial Coal Co., Ltd. เหมืองหลายแห่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ซึ่งเกินกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2557 ร้อยละ 3 ทั้งนี้ ในปี 2557 เหมืองของบ้านปูฯ ที่ออสเตรเลียสามารถผลิตถ่านหินได้มากกว่าปีก่อนถึง 1.4 ล้านตัน
ธุรกิจถ่านหินในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีพัฒนาการที่สำคัญ โดยเหมืองเกาเหอกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่สามของการดำเนินงาน และสามารถเดินเครื่องจักรได้อย่างเต็มที่โดยมีปริมาณการผลิตจำนวน 8.6 ล้านตัน คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 43 จากปี 2556 และมีแผนที่จะขยายกำลังผลิตขึ้นในอีก 2–3 ปีข้างหน้านี้
ด้านธุรกิจไฟฟ้า บ้านปูฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการผสมผสานจุดแข็งของธุรกิจไฟฟ้าและถ่านหิน เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้ทั้ง 2 ธุรกิจเติบโตคู่ขนานกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าสู่พลังงานทดแทน และพลังงานอื่นๆ และมีแผนในการนำธุรกิจไฟฟ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อต่อยอดการเติบโตและสะท้อนถึงมูลค่าของธุรกิจ
“โรงไฟฟ้าหงสาในลาวจะเริ่มสร้างรายได้ราวกลางปี 2558 นอกจากนี้ เรายังวางแผนที่จะขยายกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในจีน พร้อมกับพัฒนาโครงการใหม่ คือโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง เพื่อเปิดดำเนินการในปี 2560 อีกด้วย
ที่สำคัญเรายังมองโอกาสการขยายโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในประเทศไทย และประเมินโอกาสการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างเช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน พลังงานชีวมวลหรือไบโอแมส พลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าพลังน้ำ ในขณะเดียวกัน เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ก็มีแผนที่จะนำบริษัทบ้านปูเพาเวอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” นายชนินท์ กล่าวเสริม
แผนส่วนที่ 3 ของยุทธศาสตร์สู่การเติบโตของบ้านปูฯ คือ แผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งบริษัทฯ ได้ปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมของผู้สืบทอดตำแหน่งในหน้าที่สำคัญๆ หลายตำแหน่ง ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้เสนอชื่อ นางสมฤดี ชัยมงคล ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีกำหนดอนุมัติการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนนี้
เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านตำแหน่ง นายชนินท์ เปิดเผยว่า “บ้านปูฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว การปรับตัวและเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จในอุตสาหกรรมพลังงาน ด้วยเหตุนี้ เราจึงบ่มเพาะปรัญชาการทำงานที่พร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจ สามารถพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วยความยืดหยุ่น และให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในระยะยาวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งคุณสมฤดี มีคุณลักษณะดังกล่าวอย่างครบถ้วนและเหมาะสม ด้วยประสบการณ์ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านปูฯ ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งบริษัทฯ คุณสมฤดีจึงมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและการดำเนินงานของบ้านปูฯ อย่างถ่องแท้ทุกแง่มุม ผมจึงมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในความสามารถของคุณสมฤดี”
ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ได้เปิดใจถึงการเตรียมพร้อมรับหน้าที่ใหม่นี้ว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง และขอขอบพระคุณคุณชนินท์ที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นผู้ให้คำแนะนำด้านการทำงานและบริหารงานมาตลอด นับตั้งแต่เข้าร่วมงานกับบ้านปูฯ สิ่งสำคัญที่สุดที่มุ่งหมายไว้ คือการนำค่านิยมร่วมวัฒนธรรมองค์กร “บ้านปู สปิริต” และบุคลากรที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและศักยภาพของเรา มาเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการเติบโตให้แก่บริษัทฯ ผู้ถือหุ้น และดูแลผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้บ้านปูฯ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน”
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และให้คำปรึกษาแนวทางการพัฒนาแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ ต่อไป นอกจากนี้ นายปีเตอร์ แพร์รี่ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท Centennial Coal จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร–การเงิน (Chief Financial Officer) บริษัท บ้านปูฯ จำกัด (มหาชน) ต่อจากนางสมฤดี
สรุปผลการดำเนินงานปี 2557 ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
บ้านปูฯ รายงานปริมาณการขายถ่านหินสำหรับปี 2557 จำนวน 44.45ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.65 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยปริมาณการขายของเหมืองในประเทศออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้น 1.88 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณการขายของเหมืองในสาธารณรัฐอินโดนีเซียลดลง 0.23 ล้านตัน
ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยสำหรับปี 2557เท่ากับ 65.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน เปรียบเทียบกับราคาขายถ่านหินเฉลี่ยสำหรับปี 2556 เท่ากับ 72.4 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผลจากราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
รายได้จากธุรกิจไฟฟ้ามีส่วนสำคัญต่อกำไรรวมของบริษัทในปี 2557 โดย BLCP ดำเนินการผลิตและขายไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและบันทึกส่วนแบ่งกำไรจำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2,277 ล้านบาท) ขณะที่โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้บันทึกกำไรสุทธิที่ดีจำนวน 27 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 862 ล้านบาท) ในปี 2557