กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คณะการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ ๒ โดยมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานพิธี และยังได้รับเกียรติจาก คุณวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นเกียรติภายในงานการแข่งขันตอบปัญหาบัญชี ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยมีสถานบันที่เข้าร่วมแข่งขันกว่า ๕๐ สถาบัน รวม ๑๔๖ ทีม จากทั่วประเทศ
ผลปรากฎว่า ผู้คว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ตกเป็นของทีมนักเรียนจาก “วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี” ส่วนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) “วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ในพระอุปถัมภ์” เป็นผู้คว้าแชมป์ไปครอง ซึ่งทั้งสองทีมได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เงินสดและทุนการศึกษา
“น้องครีม” นางสาวปิยะลักษณ์ ฤทธิ์งาม ตัวแทนจากทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี เล่าว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันในครั้งนี้ คือ ความรอบคอบและความรู้ในทักษะด้านบัญชี อีกทั้งยังสามารถนำความรู้การจากแข่งขันไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อรู้รายรับ-รายจ่าย ก็จะทำให้รู้จักประหยัดอดออมมากขึ้น
“พอรู้ว่าทีมเราได้รางวัลชนะเลิศ ก็ตื่นเต้นและดีใจมาก ก่อนที่จะมาแข่งเรามีการเตรียมตัวกันเยอะมาก อาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยติวให้คำแนะนำ หลังเลิกเรียนเราก็จะมานั่งทบทวนเนื้อหาที่เรียน การที่ทีมเราชนะ ไม่ใช่เพราะเราเก่งหรือมีความรู้มากกว่าทีมอื่น แต่เป็นเพราะเรามีความสามัคคี ช่วยกันคิดแข่งกับเวลาและแข่งกับตัวเอง เพื่อนๆ ทุกทีมมีความสามารถเท่ากัน แต่อาจจะมีบางจุดที่ทีมอื่นอาจมองข้ามไป การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก พวกเรามีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมาย” น้องครีม กล่าว
ด้านทีมชนะเลิศในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) “น้องอีฟ”กมลชนก หมัดเขียว จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ในพระอุปถัมภ์ เล่าว่า ที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้เพราะอยากได้ประสบการณ์จากการแข่งขันเพื่อนำไปปรับใช้กับการเรียนและชีวิตประจำวัน
“พวกเราภูมิใจและดีใจมากที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ในช่วงเวลาการแข่งขันทีมเราจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เพื่อทำเวลาให้ดีและถูกต้องที่สุด เช่น คนหนึ่งทำหน้าที่คำนวณ อีกคนวิเคราะห์ทฤษฎี และคนสุดท้ายทำหน้าที่ตัดสินใจ ถ้ามีเหตุการณ์ที่ความเห็นไม่ตรงกัน เราก็จะใช้กฎเสียงข้างมากเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งตรงนี้การทำงานเป็นทีมเวิร์ค ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญมาก” น้องอีฟ กล่าว