กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
หวังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น พร้อมดันเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานปฏิรูปที่ดิน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2519 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 โดยมีการหารือใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การขยายขอบเขตการใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เสนอให้ขยายขอบเขตการใช้เงินกองทุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับซื้อสิทธิต่างๆ ที่ได้มาจากการปฏิรูปที่ดินคืน เพื่อจัดให้กับเกษตรกรรายต่อไป ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์และการครอบครองประเภทอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายเกษตรกรเห็นว่า ควรจะมีการรับฟังข้อคิดเห็นเพิ่มเติม 2. เนื่องจากปัจจุบันการซื้อที่ดินในที่เอกชนต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาทุกครั้ง ทาง ส.ป.ก. จึงเสนอให้แก้ไขกฎหมาย โดยให้ ส.ป.ก. สามารถจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติ และให้ถือว่าเป็นเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่ต้องมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเขต เพื่อนำที่ดินมาใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เกษตรเป็นชุมชนเมือง เช่น การสร้างมหาวิทยาลัย ส่งผลให้พื้นที่รอบๆ เปลี่ยนสภาพจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อย่างอื่นนั้น จะมีแนวทางรองรับอย่างไร 4.การควบคุมพื้นที่ที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน ที่ไม่ใช่ ส.ป.ก. 4-01 แต่เป็นสิทธิจากที่ดินของรัฐเป็นเอกชน โดยสิทธิประเภทนี้จะถูกห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ยกเว้นการตกทอดทางมรดก หรือขายกลับคืนให้ ส.ป.ก. ซึ่งต้องหาแนวทางในการอุดช่องว่างว่า แม้สิทธิประเภทนี้จะตกเป็นของเอกชนไปแล้ว แต่ยังต้องทำเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ ประเด็นการหารือทั้ง 4 ประเด็น จะมีการนำไปพิจารณาร่วมกับภาคเอกชน เกษตรกร และนักวิชาการ เพื่อให้เกิดการรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านต่อไป
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการมีส่วนร่วมตามมติคณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาการใช้เกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานปฏิรูปที่ดิน ทั้งในขั้นตอนการเตรียมการสำรวจจัดที่ดินและการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้านต่างๆ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อ.บ.ต. , อ.บ.จ.และผู้ปกครองส่วนท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาคมอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ นอกเหนือจากคณะกรรมการฯตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. ไปออกระเบียบวิธีการการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น นอกจากนี้ ได้เร่งรัดแผนงานการตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยสำรวจผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรหรือใช้ที่ดินผิดประเภท ซึ่งได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. จัดทำแผนการตรวจสอบเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี พ.ศ. 2558-2560) โดยดำเนินการตรวจสอบพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ที่จัดไปแล้ว ตามลำดับขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรของ ส.ป.ก.โดยนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดินจริงหรือไม่ 2.หากมีการกระทำผิดจะมีหนังสือแจ้งเตือนและเรียกให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 3. หากไม่มาชี้แจงจะสั่งให้สิ้นสิทธิ และ 4.ส่งให้อัยการฟ้องคดีตามกฎหมายต่อไป