กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรีย ซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสามารถปรับเพิ่มอัตรากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ โอกาสที่อันดับเครดิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัด ทว่าอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทมี EBITDA ที่ลดต่ำกว่า 300 ล้านบาทและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงเกินกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง
บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดยนายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน ณ เดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 30% บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ (MVA) ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์ (kV) และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ถึง 10 MVA ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 kV
นอกจากรายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจประกอบและจำหน่ายรถยกไฮดรอลิกในปี 2554 ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด (E&S) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดด้วย และในปี 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 85% ใน บริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด (LDS) เพื่อรองรับการจัดหาถังหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทและขยายการดำเนินงานสู่ธุรกิจเหล็กแปรรูป
รายได้รวมของบริษัทในปี 2557 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายซึ่งคิดเป็น 37% ของรายได้รวม รองลงมาคือรายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (36%) รายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งคือ E&S และ LDS (23%) และรายได้จากค่าบริการ (3%) บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า โดยลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า 3 ราย ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทโดยเฉลี่ย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 35% ของรายได้รวม บริษัทเอกชน 34% และลูกค้าภาคการส่งออก 17% ลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าทั้ง 3 รายยังคงเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ารายสำคัญเนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐและมีประวัติการชำระเงินที่ดี สำหรับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้น ปัจจุบันมีผู้ผลิตในประเทศทั้งหมด 4 ราย บริษัทเป็น 1 ในผู้ผลิต 3 รายที่สามารถผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าได้ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ การเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ การขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตเดิม และการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่ที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันลดความรุนแรงลงเล็กน้อยเนื่องจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (กำลังไฟฟ้าระหว่าง 200-300 MVA) จากเดิม 1% เป็น 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ในปี 2555 นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Siemens ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่ง Siemens จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้แก่บริษัท
สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายนั้นปัจจุบันมีคู่แข่งในประเทศมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของผู้ผลิตทั้งหมดเป็นผู้ผลิตรายเล็กซึ่งไม่สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพสูง ทำให้ไม่สามารถประมูลงานกับรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้ บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย เมื่อพิจารณารายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายแล้ว บริษัทอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นประมาณ 11% ของมูลค่าตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายในปี 2556
ในช่วงปี 2557 สถานะการเงินของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ โดยการประท้วงที่เริ่มในช่วงปลายปี 2556 ส่งผลกระทบให้งานประมูลของภาครัฐวิสาหกิจและโครงการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว ทั้งนี้ กฟภ. และ กฟผ. ไม่มีการเปิดประมูลงานมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จนถึงสิ้นปี 2557 รายได้ของบริษัทจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าและบริษัทเอกชนในปี 2557 ลดลง 46% และ 15% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2556 แต่รายได้จากลูกค้าหลัก 2 กลุ่มดังกล่าวที่ลดลงอย่างมากก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากรายได้จากบริษัทย่อยและจากยอดสั่งซื้อในภาคส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในปี 2557 อยู่ที่ 2,132 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2556
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนตัวลง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเท่ากับ 6.7% ในปี 2557 เทียบกับ 12.5% ในปี 2556 อัตรากำไรที่ลดลงเนื่องจากการลดลงในสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจและการแข่งขันทางด้านราคาระหว่างผู้ผลิตหม้อแปลงในประเทศเพื่อให้ได้รับงานภาคเอกชน ทั้งนี้ รายได้จากกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้ามีอัตรากำไรที่สูงกว่ารายได้ในกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงแม้รายได้ในปี 2557 จะลดลง ส่งผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจาก 342 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 200 ล้านบาทในปี 2557
ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีหนี้สินรวมเท่ากับ 961 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 880 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 หนี้สินรวมที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตของบริษัท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45% จาก 42.6% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทลดลง บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเท่ากับ 20.8% ในปี 2557 จาก 38.9% ในปี 2556 และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 3.8 เท่าจาก 7.3 เท่าในปี 2556
ผลประกอบการของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าสามารถเปิดประมูลได้ตามปกติและการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัว ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวน 1,206 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยประมาณ 84% ของยอดขายที่รอการส่งมอบนี้มีกำหนดส่งมอบภายในปี 2558 ณ สิ้นปี 2557 บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลโครงการที่มีมูลค่ารวมประมาณ 7,400 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้ว บริษัทมีอัตราความสามารถในประมูลสำเร็จประมาณ 20% ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,400-2,700 ล้านบาท โดยมีเงินทุนจากการดำเนินงานและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายประมาณ 200 ล้านบาทและ 300 ล้านบาทต่อปีตามลำดับ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 40% ในปี 2558-2560 เนื่องจากแผนการลงทุนที่ลดลง
บริษัทมีหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในเดือนมิถุนายน 2558 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในวงเงินรวม 400 ล้านบาทเพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิม อีกทั้ง ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีเงินสดในมือ 570 ล้านบาทและวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกอีกประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัท
บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) (TRT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRT156A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable