กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศแผนยุทธศาสตร์ปี 2558-2560 ปรับหลักสูตรตอบสนองความต้องการของสังคมและโลก พร้อมพลิกฟื้นบทบาทในการชี้นำสังคม เน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ GREATS เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมเปิดคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ดำเนินโยบายหลัก 3 ด้าน คือ การส่งเสริมด้านการวิจัย ความเป็นนานาชาติ และการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันจะเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ โดยการดำเนินนโยบายหลัก 3 ประการดังกล่าวส่งผลให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวทีระดับโลกและระดับประเทศกว่า 100 รางวัลต่อปี มีผลงานที่ได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นกว่า 100% และมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติกว่า 500 ผลงาน ในด้านนานาชาติ ได้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำใน ASEAN จีน ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น เพิ่มมากขึ้น ในด้านความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มหาวิทยาลัยได้ใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของสังคมไทยมากขึ้น และสนับสนุนการดำเนินโครงการบริการสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้นักศึกษามีความใกล้ชิดกับประชาชนและเห็นสภาพของสังคมไทยอย่างแท้จริง
สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยปี 2558-2560 อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของอาเซียน และการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 โดยมหาวิทยาลัยจะสานต่อแนวนโยบายหลักสามด้าน ทั้งด้านการวิจัย ความเป็นนานาชาติ และการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน พร้อมกับการนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มาใช้เพื่อมุ่งให้นักศึกษาเรียนจากประเด็นปัญหาจริงด้วยตนเอง การลงมือทำโครงการและค้นคว้าวิจัยหาความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการเรียนด้วย Problem-Based, Case – Based และSearch-Based
สำหรับยุทธศาสตร์ในการมุ่งสู่เป้าหมาย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การจัดการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล โดยการปรับหลักสูตรมีคุณภาพ ตอบความต้องการสังคม-ชุมชน และได้มาตรฐานสากล 2. การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เปิดช่องทางความร่วมมือทางวิชาการทั้งระดับอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย การให้ทุนนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาอาเซียนเพิ่มขึ้น 3. สังคมได้รับองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีคุณภาพ การสนับสนุนงบประมาณวิจัยและส่งเสริมการสร้างผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ พร้อมสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสาธารณะ เชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงสุนทรียภาพ หรือประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม 4. พลิกฟื้นบทบาทในการชี้นำสังคม ดำเนินการผ่านสถาบันธรรมศาสตร์สันติวิธีศึกษา สถาบันต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน 5. ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยยึดมั่นในความเป็นธรรม มีจิตสาธารณะและความรับผิดชอบต่อสังคม การจัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคมให้สอดคล้องกับความต้องการชุมชนอย่างต่อเนื่อง การผลักดันให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการการแพทย์ให้ก้าวหน้า รวมทั้งการขยายให้โรงพยาบาลมีศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 700 เตียง และ 6. ความเป็นเลิศในการบริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาล การยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
รศ.ดร. พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ดูแลด้านหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงถึงแนวทางการพัฒนาด้านวิชาการและการเรียนการสอนภายใต้ยุทธศาสตร์ “สร้างผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21” ว่า จากบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ธรรมศาสตร์จะมีการบูรณาการศาสตร์หลายศาสตร์รวมเข้าไว้ด้วยกัน และจะดำเนินการปรับหลักสูตร เนื้อหาวิชา กระบวนการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีการปรับวิชาพื้นฐานใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 สายหลักดังนี้ สายที่ 1 Global Mindset เป็นวิชาที่สร้างให้นักศึกษาเข้าใจและรู้เท่าทันสังคมโลก โดยเฉพาะโครงสร้างสังคมไทย และอาเซียน ตลอดจนความสามารถทางด้านภาษาที่จะส่งเสริมให้สามารถทำงานได้ทุกที่ในโลก สายที่ 2 Soft Skill เป็นวิชาที่สอนเรื่องบุคลิกภาพ ขนบธรรมเนียมสำคัญ ในสังคม การสื่อสารให้เหมาะสม การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ สายที่ 3 Spirit of Thammasat ที่จะสนับสนุนนักศึกษาไม่ว่าจะเรียนวิชาชีพใด นักศึกษาต้องนำวิชาชีพนั้นไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ โดยจะปูพื้นฐานการศึกษาในวิชา TU100 พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ปี 1และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 จะมีวิชา Professional Service ที่มุ่งเน้นการนำวิชาชีพที่ได้เล่าเรียนไปบริการสังคม
“บัณฑิตธรรมศาสตร์จะต้องมีคุณสมบัติ GREATS ประกอบด้วย Global Mindset ทันโลกทันสังคม Responsible สำนึกรับผิดชอบอย่างยั่งยืน Eloquent สื่อสารสร้างสรรค์และทรงพลัง Aesthetic Appreciation มีสุนทรียะในหัวใจ Team Leader เป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีม Spirit of Thammasat มีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นคุณสมบัติของผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21” รศ.พิภพ กล่าว
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายในการสร้างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้แนว Active & Interactive Learning และการทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศร่วมกับเครือข่ายทางการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์จะมุ่งเน้นการเรียนรู้ในเชิงสหวิทยาการที่ผสานองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์
สำหรับหลักสูตรที่เตรียมจะเปิดในปีนี้ คือ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้และนวัตกรรมการศึกษา (MEd in Learning Sciences and Educational Innovation) ซึ่งเป็นหลักสูตรสหวิทยาการที่เน้นองค์ความรู้ด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ ทักษะการออกแบบและการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลาย และการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในบริบทต่าง ๆ ของสังคม และในปี 2559 คือ หลักสูตรระดับปริญญาตรีควบโท ด้าน STEM Education และการจัดกระบวนการเรียนรู้
“ธรรมศาสตร์ ต้องก้าวไปข้างหน้าและก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติ เราจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนขนานใหญ่ ตั้งแต่วิชาพื้นฐานไปจนถึงหลักสูตรใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศชาติ และเราอยากให้นักศึกษาธรรมศาสตร์มีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ยึดมั่นในความรู้คู่คุณธรรมและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ภารกิจของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและมีความสามารถสู่สังคม สมเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21”อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวโดยสรุป