กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดพิธีมอบรางวัล “คนดีที่ซีพีเอฟ ยกย่อง” ให้กับบุคคลต้นแบบที่เป็นผู้มีความเสียสละ มุ่งอุทิศตนเองเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้ง ทุพพลภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ภายใต้โครงการ “กองทุนซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ พร้อมด้วย นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพร้อม ใบประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเชิดชูบุคคลตัวอย่าง ทั้งหมด 4 คน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคและเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ณ ห้องประชุม โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจรซีพีเอฟ จ.นครราชสีมา
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตระหนักว่าหากสังคมมีความเข้มแข็ง ก็จะสามารถนำทุกภาคส่วนเติบโตบนความยั่งยืน ดังนั้น ซีพีเอฟ จึงมุ่งสร้างสังคมแห่งการตอบแทน โดยนำแนวคิดของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เกี่ยวกับหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ มาวางเป็นแนวทาง คือ การดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน เป็นหลักก่อนที่จะมองที่ประโยชน์ของบริษัทเป็นอันดับสุดท้าย ดังนั้น ในภาคสังคมที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้ง ทันทีที่มีโอกาสองค์กรต้องตอบแทนและให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงวัยที่ทุพพลภาพและไม่ได้รับการเหลียวแล ซีพีเอฟจึงไม่รีรอที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะผู้สูงวัยเหล่านี้ต่างเคยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ สังคมและชุมชน จึงสมควรที่ต้องกลับมาดูแลเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนคู่คิดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ถือเป็นค่านิยมหลักของซีพีเอฟเวย์ในเรื่องของการตอบแทนคุณ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการ “กองทุนซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 นับเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่โครงการเปิดรับผู้สูงวัยเข้าร่วมรวม 716 คน ใน 100 ชุมชนทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณสนับสนุน 54 ล้านบาท โดยองค์กรตอกย้ำเสมอมาว่า หากผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานยังชุมชนใด ต้องคอยดูแลให้ความห่วงใยแก่ผู้สูงวัย เสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ของครอบครัวเราเอง
โครงการ “กองทุนซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ถูกทอดทิ้ง ช่วยให้ผู้สูงวัยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ละเดือนจะมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ซีพีเอฟลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเยี่ยมเยียนผู้สูงวัยในโครงการฯ พร้อมนำเครื่องอุปโภค-บริโภคและเบี้ยยังชีพรายเดือนไปมอบให้กับผู้สูงวัยทุกคน สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีผู้สูงวัยเข้าร่วมโครงการ รวม 124 คน อาศัยอยู่ในอำเภอ โชคชัย, อำเภอ ปากช่อง, อำเภอ ปักธงชัย และ อำเภอหนองบุญมาก ซึ่งผู้สูงวัยเหล่านี้จะมีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีฐานะยากจน รายได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทุพพลภาพ ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง และไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ทำให้ซีพีเอฟรู้สึกห่วงใยจึงเข้าไปช่วยเหลือและดูแล โดยเฉพาะ “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” ถือเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มความสุขแก่ผู้สูงวัยเหล่านี้ และช่วยขับเคลื่อนโครงการให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดพิธีมอบรางวัลเพื่อยกย่องและเชิดชูกียรติแก่บุคคลเหล่านี้ ในฐานะ “คนดีที่ซีพีเอฟยกย่อง” โดยมีผู้รับรางวัลทั้งหมด 4 คน คือ ได้แก่ 1. นางน้ำฝน นนสุธี 2. นางสาวบุญมี ใหม่ดี 3. นางมะลิ จันทร์งาม และ 4. นางพวงพกา แบ้กระโทก ที่อาสาเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงวัยโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เสมือนญาติของตนเองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่ซีพีเอฟอยากแสดงความขอบคุณ และ ขอยกย่องให้เป็นต้นแบบคนดี
มะลิ จันทร์งาม หนึ่งใน “คนดีที่ซีพีเอฟยกย่อง” ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา นอกจากเลี้ยงดูบุตรสาว 2 คน แต่ด้วยความมีน้ำใจ จึงคอยดูแลยายน้อย พงษ์สา หญิงชราผู้มีดวงตาพิการ ถูกทอดทิ้งพร้อมหลานวัย 13 ปี ที่พิการทางสติปัญญามาแต่แรกเกิด สองยายหลานต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังอย่างยากลำบาก แต่เพราะมีมะลิ เพื่อนบ้านผู้เห็นใจในความทุกข์ยากจึงคอยดูแล ช่วยจัดเตรียมอาหารให้สองยายหลานบ้าง จัดหาของกินของใช้ที่จำเป็นให้บ้าง รวมถึงพาไปหาหมอในยามป่วยไข้ไม่สบายบ้าง โดยไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน
ด้าน บุญมี ใหม่ดี ประกอบอาชีพรับจ้างที่รีสอร์ท ได้สมัครใจดูแล ตาจวง สร้อยเพ็ชร ชายชราเร่ร่อนและพิการมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว โดยที่ทั้งสองไม่ได้เกี่ยวพันธ์กันทางสายเลือดแต่อย่างใด แม้จะต้องดูแลลูก ๆ อีก 4 คน แต่บุญมีก็ดูแลตาจวงเสมือนเป็นญาติคนหนึ่ง ไม่คิดว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น นอกจากการพาตาจวงไปหาหมอเป็นประจำแล้ว บุญมียังช่วยสร้างที่พักข้างๆ เพื่อดูแลจนอาการดีขึ้น บุญมีได้ดูแลตาจวงเป็นอย่างดีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
นอกจากนั้น ซีพีเอฟยังคงเดินหน้าดูแลชุมชนโดยรอบบริเวณที่ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหารของซีพีเอฟ ตั้งอยู่ทั่วประเทศ โดยเข้าไปส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซี่ง โครงการ “กองทุนซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” เป็นหนึ่งในโครงการตัวอย่างที่ซีพีเอฟร่วมสร้างสังคมแห่งการตอบแทนและแบ่งปันสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม
ด้วยความขอบพระคุณ
พรรณินี นันทพานิช ด้านสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF
โทร. 02-625-7343-5 , 02-631-0641, 02-638-2713 / E - mail : pr@cpf.co.th