กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพื้นผิวพลาสมาขั้นสูง จากมหาวิทยาลัยซังกุนวาน ( Sung Kyun Kwan University:SKKU )สถาบันชั้นนำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของเกาหลีในเครือซัมซุง ได้มอบเครื่องมือวิจัยด้านพลาสมาให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ พร้อมให้ทุนนักวิจัยไทยร่วมวิจัยพัฒนาและศึกษาเทคโนโลยีร่วมกันกับทางเกาหลี มั่นใจในศักยภาพของไทยที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีพลาสมา เตรียมพร้อมขยายความร่วมมือไปยัง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้ไทยเป็นศูนย์กลางและผลักดันสู่เชิงพาณิชย์เร็ว ๆ นี้ มั่นใจเป็นการร่วมวางรากฐานด้านเทคโนโลยีพลาสมาให้แก่ประเทศไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศพร้อมนำความเจริญด้านเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมหลักของไทยในด้าน.การเกษตร อาหาร และวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์
รศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยศูนย์ความร่วมมือวิจัยพลาสามาไทยเกาหลี กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีพลาสมา ขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จีออน กีออน ฮาน ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพื้นผิวพลาสมาขั้นสูง (CAPST- :SKKU และ Co-Director of TKRCC (Thai-Korean research collaboration center) ร่วมเป็นเกียรติพร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชั้นนำของเกาหลี อาทิ, KAIST- Korea Advanced Institute of Science & Technology สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเกาหลี ,Korean National Plasma research center, PBRC-Plasma Bioscience research center ร่วมประชุมกับตัวแทนฝ่ายไทยในงานเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยดังกล่าว
รศ.ดร.ธีรวรรณ กล่าวว่า สำหรับ ศ.ดร.ฮาน นั้น เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพลาสมาสูงมาก เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีพลาสมา ณ มหาวิทยาลัยซังกุนวาน ในประเทศเกาหลี และท่านมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย จึงได้ส่งเครื่องมือวิจัยด้านพลาสมาที่ครอบคลุมด้าน ชีววิทยาศาสตร์ เกษตร อาหาร สุขภาพ และการแพทย์ พร้อมดึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำมาร่วมให้การฝึกอบรม/สัมมนาให้กับนักวิจัยของไทยด้วย นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนนักวิจัยของไทยไปวิจัย/อบรมที่ประเทศเกาหลี ขณะนี้มีนักวิจัยจบและมาทำงานด้านนี้แล้วจำนวนหลายคน
รศ.ดร.ธีรวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ศ.ดร.ฮาน ยังให้การยอมรับว่า เทคโนโลยีพลาสมาของไทยมีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะ บริษัทโฟโตไบโอแคร์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ นักวิจัยแห่งห้องปฏิบัติการวิจัยพลาสมาไบโอ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ThEP) คิดค้นพัฒนาระบบพลาสมาเย็นเพื่อประยุกต์ใช้ในการแพทย์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้นำมาใช้ในเรื่องของสุขภาพผิวและความงาม ขณะนี้ได้ขยายผลวิจัยการใช้พลาสมาเย็นไปสู่การรักษาโรคแผลติดเชื้อเรื้อรังร่วมกับ ศ.นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช และคณะในโรงพยาบาลศิริราช โดยการสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในปลายปีที่ผ่านมา ทีมคณะผู้วิจัยได้รับเชิญให้ไปนำเสนอความก้าวหน้าเทคโนโลยีพลาสมาของประเทศไทยในการประชุมนานาชาติด้านพลาสมาทางการแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่น และยังได้รับเชิญไปบรรยายที่ มหาวิทยาลัย Yonsei, Kwangwoon, Sungkyunkwan ประเทศเกาหลี.เมื่อต้นปีนี้ โดยที่ประชุมยอมรับว่าเทคโนโลยีพลาสมาของไทยได้ก้าวหน้าไปมาก และมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ไม่ยาก
“ขณะนี้มีการพูดคุยหารือกันในเบื้องต้นระหว่าง ผอ.ศูนย์ TKRCC แห่งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ. TCELS นพ.ชาญชัย ฉัตรศิริมงคล จากบริษัทโฟโตไบโอแคร์ นพ.วิชาญ เกิดวิชัย คณบดีแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยบูรพา น.สพ.ขวัญชาย เครือสุคนธ์ คณบดีสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาพลาสมาทางชีวภาพและการแพทย์ชั้นนำของเกาหลี เพื่อขยายความร่วมมืออย่างเป็นทางการในด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้” รศ.ดร.ธีรวรรณ กล่าว