กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๐๘/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไข และป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณี เด็กชาย วัย ๑๓ ปี แอบมุดช่องแอร์เข้าไปในธนาคารออมสิน สาขาบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และรื้อค้นโต๊ะทำงานแล้วได้โทรศัพท์กับเงินสด จำนวน ๕๒๐ บาท ภายหลังถูกตำรวจจับตัวได้ พบว่า เด็กดังกล่าวติดเกมส์และพ่อแม่แยกทางกันทิ้งให้อยู่กับย่า และกรณี กลุ่มวัยรุ่นจำนวนกว่า ๔๐ คน ยกพวกตีกัน โดยใช้อาวุธครบมือ ทั้งมีด ปืน และระเบิดเพลิง ก่อนเผารถยนต์และจักรยานยนต์ ของอีกฝ่าย ที่จังหวัดระนอง รวมทั้งกรณี พบทารกเพศหญิงอายุ ๓ เดือน ถูกใส่ในตะกร้าทิ้งไว้หน้าบ้านริมถนนเพชรเกษม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และพบศพทารก อายุครรภ์ประมาณ ๘ เดือน ถูกใส่ในถุงดำทิ้งไว้ที่ริมป่าข้างถนน ที่อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งกรณีทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมในเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้เป็นอนาคตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศนั้น ตนได้กำชับให้หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งชี้นำสังคมให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสังคมดังกล่าว และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีหญิงสาว อายุ ๑๘ ปี ขอความช่วยเหลือลูกน้อยวัย ๔ เดือนเศษ ที่ป่วยมีอาการสมองพิการ ดูดนมเองไม่ได้ ต้องให้นมทางสายยาง ซึ่งคาดว่าเกิดจากโรงพยาบาล ไม่พร้อมทำคลอด ปล่อยให้คลอดเอง ที่จังหวัดปทุมธานี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี (พมจ.ปทุมธานี) เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้อต้น โดยเฉพาะ การฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจผู้เป็นแม่อย่างเร่งด่วน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของเด็กต่อไป
“เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีมติให้มีการจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างและลำคลองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน ๙ คลอง ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งสิ้น ๑๓,๐๐๐ คน ใน ๓,๐๐๐ ครัวเรือน โดยกำหนดให้คลองลาดพร้าวเป็นโครงการนำร่อง และให้จัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งระบบ โดยเบื้องต้น จำเป็นต้องหาแนวทางการย้ายประชาชนออกมาจากพื้นที่ก่อน ทั้งนี้ ตนได้ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และการเคหะแห่งชาติ หารือร่วมกัน โดยในเบื้องต้น ให้ลงพื้นที่สำรวจประชากรบ้านเรือน และสภาพแวดล้อม รวมทั้งปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดและจัดทำแผนการดำเนินงานในการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย