กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--คอร์แอนด์พีค
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายลดบริโภคเค็มและหน่วยงานต่าง ๆ ประกาศจัดงานกิจกรรมวันไตโลก ในวันที่ 15 มีนาคม นี้ 2558 ณ Atrium Zone?ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโรคไตและปัจจัยหลักที่คนไทยบริโภครสเค็มมากเกินไป ทำให้เป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาและเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและเสียชีวิต
นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบัน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนประเทศสมาชิก ต้องลดการบริโภคเกลือลง ร้อยละ 30 ซึ่งหมายถึงการลดการบริโภคเค็มลง จะช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลให้กับภาครัฐได้ ปีละหลายหมื่นล้านบาท และยังลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ลง ซึ่งคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพลงได้ ทั้งนี้คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุส่วนใหญ่ที่สุดร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่ง 2 โรคนี้มีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมา ทำให้ไตเสื่อมหากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
จากข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดคือขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในแต่ละปี ได้ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตจากไตวาย 13,536 คน ประมาณ 1 ใน 3 ตายก่อนวัยอันควร อายุน้อยกว่า 60 ปี จากการรายงานของสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ พบผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวน 8 ล้านคน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน ซึ่งโรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง กินอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำ คือ บริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสเค็ม ได้แก่ เกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ผงชูรส และผงปรุงรสต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปนิยมอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารนอกบ้านที่ปรุงโดยคำนึงถึงแต่รสชาติแต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค
ด้าน ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของการจัดกิจกรรมวันไตโลกในปีนี้ ถือเป็นปีพิเศษที่มีหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงการบริโภครสชาติเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยได้จัดกิจกรรมดังกล่าว ในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2558 ณ Atrium Zone ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สำหรับ กิจกรรมภายในงาน“วันไตโลก” วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคมนี้ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคไต แบ่งเป็นโรคไตวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยเกษียณอายุ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต รวมไปถึงนิทรรศการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการจากเครือข่ายลดบริโภคเค็ม การเปิดรับบริจาคไต การตรวจสุขภาพ การเสวนาเรื่องโรคไตกับแพทย์โรคไต การสาธิตการทำอาหาร “เมนูอร่อย ดีต่อสุขภาพไต” โดย ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เชฟชื่อดังของเมืองไทย และการแสดงบนเวที โดยกลุ่มศิลปิน นักแสดง ดาราต่างๆ มากมาย อาทิ มาเรียม อัลคาลาลี่ (B5) ,อินทิรา ยืนยง (คุณอิน บูโดกัน), คุณวรรธนา วีรยวรรธน (คุณเจี๊ยบ),ธนกฤต พานิชวิทย์ (คุณว่าน),ณฐพร เตมีรักษ์ (คุณแต้ว), คุณสุริยนต์ อรุณวัฒนกูล (คุณเดี่ยว) นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจำหน่ายเสื้อยืดวันไตโลก 2558 ในราคาตัวละ 200 บาท รายได้ส่วนหนึ่งมอบให้มูลนิธิโรคไต เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.nephrothai.org
ด้าน รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ กรรมการบริหารแผน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทั้งอาหารที่มีรสจัดหวาน มัน เค็ม ขาดการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ บริโภคผักและผลไม้ 400 – 500 กรัมต่อวัน รวมทั้งการมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนั้นพบว่า มีทั้งภาวะโภชนาการขาดและเกิน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสติปัญญาที่ไม่เหมาะสมตามวัยมากขึ้น ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบหลัก คือ แป้ง น้ำตาล โซเดียม ในปริมาณสูง ซึ่งมีปัจจัยมาจากสิ่งเร้ารอบตัว นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการการส่งเสริมนวัตกรรมอาหารเพื่อลดการบริโภคเค็ม มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP โดยมีแนวคิดเพื่อลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ควรเค็มแต่เค็ม โดยในปีแรกนี้ได้เลือกอาหาร 10 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวตัง กล้วยฉาบรสเค็ม กล้วยฉาบรสหวาน คุกกี้ ทองม้วนรสเค็ม ทองม้วนรสหวาน ถั่วกรอบแก้ว หมี่กรอบ น้ำพริก ปลากรอบ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีสามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยจะต้องลดอาหารเค็ม เพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (องค์การอนามัยโรคแนะนำบริโภคเกลือ 5 กรัม หรือโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) การรับประทานอาหารรสเค็มจัด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไต นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับชาติ ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ป่วย ที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็ก เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง จนเป็นสาเหตุในเรื่องของภาวะ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นภัยเงียบรสเค็ม ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อยๆ เสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด
สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต ควรปฏิบัติดังนี้
1.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
2. ควบคุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130 /80 และระดับน้ำตาลในเลือด
3.ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกิน วันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 4.เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา
และ 5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ด้านนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และยังขาดแคลนในเรื่องของการรับบริจาคไตจากผู้ใจบุญ ซึ่งยังมีผู้ป่วยโรคไต รอรับบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก ปัญหาของผู้ป่วยโรคไต คือ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะกับสุขภาพและบริบทของผู้ป่วยและปัญหาที่สำคัญด้าน การบริโภคอาหารรับประทานเค็มเกินความพอดี ทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังทั้งที่ยังไม่วาย และโรคไตที่วายแล้ว ต้องการการฟอกเลือด ถามว่า อาหารไทยที่เราท่านรับประทานกันอยู่ทุกวัน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยรวมแล้ว มีความเค็มเกินพอดีหรือไม่ ? อาจมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ ? คำตอบคือ อาหารไทยหลายชนิด ทั้งที่ปรุงเอง หรือซื้ัอทานหรือที่เป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีความเค็มเกินพอดีหากช่วยกันลดการบริโภคอาหารเค็มได้ ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ทางชมรมเพื่อนโรคไตได้สนับสนุนการรณรงค์ลดการบริโภคเค็มมาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาโรคไตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชน จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปทุกท่านมาร่วมงานในปีนี้ หรือจะมาร่วมลงชื่อเพื่อบริจาคไต ภายในงานนี้ ถือเป็นกุศลอย่างยิ่งใหญ่ในชีวิต