กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- การประท้วงของสหภาพแรงงาน United Steelworkers (USW) ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 58 ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยพนักงานขยายการประท้วงปิดโรงกลั่นของบริษัท Shell เพิ่มอีก 3 แห่ง คือโรงกลั่น Motiva (กำลังการกลั่น 600,000 บาร์เรลต่อวัน) โรงกลั่น Convent (กำลังการกลั่น 235,000 บาร์เรลต่อวัน) และโรงกลั่น Norco (กำลังการกลั่น 238,000 บาร์เรลต่อวัน) ทำให้ในปัจจุบันมีโรงกลั่นที่ปิดดำเนินการ เนื่องจากการประท้วงดังกล่าว 12 แห่ง (มีกำลังการผลิตรวมคิดเป็น 3.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 1 ใน 5 ของประเทศ)
- โรงกลั่นในสหรัฐฯที่ปิดดำเนินการเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ได้แก่โรงกลั่น PA (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้องปิดดำเนินการเนื่องจากแม่น้ำ Delaware แข็งตัวส่งทำให้ไม่สามารถขนส่งได้ รวมถึงโรงกลั่นBayway (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) และโรงกลั่น Philadelphia Energy Solution PA (กำลังการกลั่น330,000 บาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้กำลังการกลั่นบริเวณภาคตะวันตกตอนกลาง (Midwest) ของประเทศลดลงมากกว่า 50%
- Reuters รายงาน ท่าส่งออกน้ำมัน Zueitina (ปริมาณการขนส่ง 70,000 บาร์เรลต่อวัน) ของลิเบียกลับมาดำเนินการแล้ว หลังเลื่อนมากว่าปี นอกจากนี้ Arabian Gulf Oil Co. (AGOCO) เผย ท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิต Sarir (กำลังการผลิต 185,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Mesla (กำลังการผลิต 80,000 บาร์เรลต่อวัน) สู่ท่าส่งออก Marsa al Hariga (ปริมาณการขนส่ง 110,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการแล้วเช่นกัน
- ประธานาธิบดี โอบามา ใช้อำนาจบริหารยับยั้ง (Veto) ร่างโครงการท่อขนส่งน้ำมัน Keystone XL ที่เสนอโดยพรรค Republican โดยนาย Mitch McConnell ผู้นำเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง (Senate) ประกาศว่าจะพยายามเพิกถอนการ Veto ของประธานาธิบดีโอบามาภายในวันที่ 3 มี.ค. 58 ทั้งนี้พรรค Republican ขาดเสียงอีก 4 เสียงที่ต้องโน้มน้าวมาจากพรรค Democrats หรือผู้แทนอิสระ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig Counts) ในสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์วันที่ 20 ก.พ 58 ลดลง 37 แท่น หรือ ลดลงจากปีก่อน 28.5% มาอยู่ที่ 1,019 แท่น
- นักลงทุนคลายความกังวลต่อปัญหากรีซ หลังกลุ่มเจ้าหนี้สมาชิกยูโรโซนยอมรับข้อเสนอมาตรการปฏิรูปของกรีซที่ยื่นให้พิจารณาในวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้ยูโรโซนยินยอมขยายระยะเวลาให้เงินช่วยเหลือกรีซออกไปอีก 4 เดือน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไตรมาสที่4/57 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.7% หรือเติบโตจากปีก่อน 1.6% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ซึ่ง คลายความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจเยอรมนีที่มีการหดตัวในไตรมาสที่ 2/57
- Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐฯ (Service Manager's PMI) เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 57 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.8 จุด จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายฝั่งตะวันตกเติบโต ช่วยชดเชยธุรกิจทางฝั่งตะวันออกที่หยุดชะงักจากภาวะอากาศเย็นหนาว
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI และ ICE Brent เฉลี่ยเดือน ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังIEA และ EIA รวมถึง OPEC ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกปี 58 นอกจากนี้ IEAและ OPEC ยังปรับลดอัตราการเติบโตของอุปทานน้ำมันดิบจาก Non-OPEC ปี 58 ลง ประกอบกับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่อง 12 สัปดาห์สู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี และนับว่าลดลง 39% จากระดับสูงสุดช่วงเดือน ต.ค. 57 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 58 อาจไม่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากใน 2 สัปดาห์ล่าสุดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบลดลงด้วยอัตราต่ำกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่สดใสนักอาจลดทอนแรงส่งต่ออุปสงค์น้ำมันดิบโลก อาทิเกาหลีใต้ที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 3.7% มากที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่การลงทุนภาคธุรกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4/57 เพิ่มขึ้น จากปีก่อนเพียง 2.8% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5% ทำให้ตลาดจับตาอัตราการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่จะทบทวนใหม่ในวันที่ 9 มี.ค. 58 ที่คาดว่าตัวเลขจะลดลงและประเด็นตลาดมุ่งความสนใจมากที่สุดคือการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนในวันที่ 5 มี.ค. 58 ซึ่งคาดหมายว่ารัฐบาลจะปรับลดเป้าหมาย GDP ลงจากเดิมเติบโตปีละ 7.5% เหลือ 7.0% ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.1-63.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46.3 -51.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.1-60.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียเผยยอดขายน้ำมันเบนซิน เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 445,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาขายปลีกที่ปรับลดลง โดย Reliance ดำเนินการเปิดสถานีบริการกว่า 1,400 แห่ง หลังจากปิดไปในปี 2550 อีกทั้งอุบัติเหตุไฟไหม้หน่วย Fluid Catalytic Cracker (FCC) (ขนาด 100,000 บาร์เรล/วัน) ที่โรงกลั่น Torrance ของบริษัท ExxonMobil ในสหรัฐฯ ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินจากเอเชีย ทำให้ Arbitrage จากสิงคโปร์สู่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ (USWC) เปิดสนับสนุนราคาในภูมิภาค ประกอบกับ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.พ. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 10.78 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล อยู่ที่ 13.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.1-75.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และจากสำนักข่าว Argus รายงานโรงกลั่น Ruwais ของ ADNOC ที่กำลังดำเนินการขยายกำลังการกลั่นจาก 415,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 830,000 บาร์เรลต่อวัน มีแผนที่จะส่งออกน้ำมันดีเซล เที่ยวแรกในเดือนเม.ย. 58 อย่างไรก็ตาม Reuters รายงาน Arbitrageของน้ำมันดีเซล จากยุโรปสู่แถบชายฝั่งตะวันออก (East Coast) ของสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณสูงถึง 4.5ล้านบาร์เรล เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างหนักในบริเวณ East Coast ส่งผลให้ประชาชนต้องการใช้น้ำมันดีเซล เพื่อทำความอบอุ่นเพิ่มขึ้น ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันแถบนั้นกลับต้องหยุดดำเนินการจากผลของความหนาวเย็น ขณะที่ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากภูมิภาคเอเชียไปยังยุโรปเปิด และ PAJ รายงานปริมาณสำรองDistillates เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.พ. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ24.97 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่25 ก.พ. 58 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.1-76.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล