กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นศ.มจธ. ทำคลิปแนะครูไทยแก้ปัญหาการศึกษาไม่ต้องรอนโยบาย หยุดโทษเด็กแล้วมาเริ่มต้นที่ “ตัวครู” เปลี่ยนมุมมอง ความคิด วิธีสอน และวิธีประเมิน นำเสนอด้วยเนื้อหาที่ทำให้ครูเกิดความตระหนักหากยังสอนเด็กแบบเดิม เด็กท่องได้ จำได้ แต่ใช้ไม่เป็น ความรู้ก็สูญเปล่า
“การศึกษาไทย” เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งกำลังตระหนักกับ ปัญหานี้ทั้งในระดับนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่รับรู้อยู่กับเรื่องปัญหาการศึกษาอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและแก้ไข
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นสถาบันการศึกษาที่ยึดหลักการเรียนรู้แบบ Active Learning มาโดยตลอด ซึ่ง ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. เป็นหนึ่งในบุคคลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างครู กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบ Active Learning ผู้เรียนต้องสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองผ่านกิจกรรม เกม และทุกสิ่งรอบตัว หรือ case study ต่างๆ โดยมี “ครู” เป็นจุดเริ่มต้น
“สำหรับ active learning ที่แท้จริงผมมองว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การประเมินผลผู้เรียนเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเราไปนั้น เขาสามารถจัดการกับความรู้ที่ได้ไปอย่างถูกต้องตามจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้หรือไม่ หรือสามารถแจกแจงและต่อยอดความรู้ไปอย่างไร ดังนั้นการประเมินที่ธรรมดาทั่วไปมันจะไม่สร้างคุณค่า และเพื่อให้เกิดความท้าทายความรู้จึงต้องหาเวทีเพื่อให้คนนอกเป็นผู้ร่วมชี้วัด” ดร.ปกรณ์ กล่าว
และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบและการประเมินผลที่ชัดเจน วศินี ตัวลือ นันทรัตน์ อัศวภักดี และปราณี แก้วใหญ่ 3 นักศึกษาปริญญาโท จากสาขาเทคโนโลยีการเรียนรู้และสื่อสารมวลชน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม (มจธ.) ได้รวมตัวกันภายใต้ทีมที่ชื่อว่า “นกแก้วนกขุนทอง” เพื่อเข้าแข่งขันการประกวดคลิปวีดีโอในแนวคิด “การศึกษาไทย เอาไงดีวะ!?” ซึ่งจัดขึ้นโดย iLAW หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โดยคลิปดังกล่าวสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาได้สำเร็จจากจำนวนผู้เข้าประกวดทั้งสิ้น 24 ทีมทั่วประเทศ
“สำหรับโจทย์การแข่งขันเกี่ยวกับวิธีการหรือแนวคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน และเนื่องจากเราทุกคนเรียนครู เราเป็นครู ดังนั้นเราจึงมองปัญหาในมุมของครู ซึ่งพบว่าปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเด็กจริง แต่ไม่ได้เกิดจากเด็กโดยตรง เราเห็นคะแนนสอบ O-net ของเด็กต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งๆ ที่เราก็ตั้งใจสอนเต็มที่แต่ทำไมเด็กถึงทำคะแนนสอบไม่ได้ดี” ปราณี กล่าว
นันทรัตน์ กล่าวเสริมถึงการนำเสนอในคลิปวิดีโอนี้ว่า “ได้แนวคิดจากการเรียนแบบ active learning ในห้องเรียน มีกระบวนการสอนที่หลากหลายและสามารถนำมาบูรณาการเพื่อให้เกิดเป็นผลงานขึ้นมา การที่ครูสอนด้วยวิธีเดิมๆ สอนตามหนังสือเรียนเน้นการจดและท่องจำนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กขาดการคิดและวิเคราะห์ เพราะเด็กท่องได้ จำได้แม่น แต่นำไปใช้ไม่เป็น และบทเรียนนั้นก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นคลิปวีดีโอนี้จึงทำขึ้นมาโดยมีเนื้อหาเพื่อเตือนสติให้ครูได้กลับมาย้อนดูวิธีการสอนของครูเอง ให้ลองเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการสอน เพราะจากการเปลี่ยนแปลงของครูอาจนำมาซึ่งหลายสิ่งที่ดีขึ้นก็เป็นได้ “
“ O-net ย่ำแย่ แก้ที่ใคร ”.... เป็นชื่อคลิปวีดีโอของน้องๆนักศึกษาทีมนกแก้วนกขุนทอง เป็นการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนถึงปัญหาการศึกษาในมุมมองของครู นอกจากปัจจัยภายนอกในด้านภาระงานต่างๆ ที่เบียดเบียนเวลาการสอนของครูแล้ว ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ตัวครูเองที่ยังติดกับรูปแบบการสอนแบบเดิมๆ ดังนั้น จุดประสงค์ของคลิปวีดีโอชุดนี้ คือสร้างความตระหนักให้กับครูเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง....
ดร.ปกรณ์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษากล่าวเสริมแนวคิดของคลิปวีดีโอนี้ว่า “ การจะพัฒนาชาติหลายคนว่าต้องพัฒนาที่เด็ก แต่หากย้อนกลับไปที่ต้นตอจริงๆ ครูต่างหากที่ต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เกิดการสอนที่มุ่งไปข้างหน้าสอดคล้องกับเป้าหมายหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยคือวิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนที่ครู เพราะหากครูยังติดอยู่กับการสอนแบบเดิมๆ การจดและท่องจำแบบที่ผ่านมาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยไม่ก้าวหน้า ดังนั้นการจะสอนคนให้เป็นครูนั้น เราต้องเป็นต้นแบบของครูให้ได้เสียก่อน”
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาชมคลิปวีดีโอของทีมนกแก้วนกขุนทองได้ทาง youtube โดยพิมพ์คำว่า “O-net ย่ำแย่ แก้ที่ใคร” และคลิปวีดีโอนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของครูอีกหลายคนเพื่อการพัฒนาลูกศิษย์ต่อไปก็เป็นได้