กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ใครเคยเล่นเกม Insectica Kingdoms บ้าง? เชื่อว่าคงมีหลายคนยกมือขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าเกมนี้เป็นผลงานการพัฒนาของ “เยาวชนไทย” ที่มีความใฝ่ฝันจะมีบริษัทซอฟต์แวร์เป็นของตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งวันนี้ความฝันของพวกเขาเป็นจริงแล้ว ในชื่อ "บริษัท เซเฟอร์ แล็บ จำกัด" (Zeferlab)
แบงค์ - ธนพล กุลจารุสิน หนึ่งในสามสมาชิกรุ่นบุกเบิกเล่าว่า ตัวเองชื่นชอบการเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก และเป็นความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีบริษัทพัฒนาเกมเป็นของตัวเองให้ได้ กระทั่งได้พบกับ จั้ม - ฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม และ ชาติ – สุทธินันท์ สุคโต เพื่อนร่วมสถาบันที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้ชักชวนกันพัฒนา เกมมหัศจรรย์อาณาจักรแมลง: ผจญภัย (Insectica Kingdoms) ขึ้นในลักษณะของเกมจัดทัพวางแผนการรบกันระหว่างเผ่าพันธุ์แมลงในรูปแบบสามมิติ บนอุปกรณ์ Smart Phone และ Tablet และส่งเข้าประกวดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2556 โดยผลงานสามารถทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ และได้เข้าร่วมโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในเวลาต่อมา วัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้เพื่อต่อยอดให้เกมนี้สามารถพัฒนา “ใช้งานได้ และขายได้จริง”
ทั้งนี้ ภายหลัง เกมมหัศจรรย์อาณาจักรแมลง: ผจญภัย (Insectica Kingdoms) ได้เปิดตัวในระบบIOS ที่สนนราคา $0.99 ก็พบว่าได้รับการตอบรับจากตลาดนักเล่นเกมเป็นอย่างดี ช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้พวกเขาว่าหลังเรียนจบ พวกเขาจะสามารถตั้ง Start Up Business ของตัวเองได้อย่างแน่นอน โดยได้อีกสองขุนพลคือทวีศักดิ์ ชูศรี และ กัณ - ศุภสัณห์ เชื่องยาง สองหนุ่มร่วมฝันจากสถาบันเดียวกันมาช่วยต่อเติมความฝัน พวกเขาเล่าว่าหลังจาก Insectica Kingdoms แล้วทางกลุ่มยังผลิตเกมออกมาต่อเนื่อง อาทิ เกม Green Era (กรีน อีร่า) และเกม Color Ninja (คัลเล่อร์ นินจา) ในแต่ละครั้งของการผลิตเกมก็สร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีดิจิตอลก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หากย่ำอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลัง ดังนั้นพวกเขาต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา บางส่วนก็ใช้ข้อผิดพลาดจากเกมเก่าๆ มาเป็นบทเรียนพัฒนาเกมใหม่ให้ดีขึ้น
ทั้ง 5 หนุ่มยังบอกด้วยว่า ในระยะแรกของการก่อตั้งบริษัทขึ้นเอง พวกเขามีรายได้ไม่ดีนัก แต่ก็พร้อมยอมรับเพราะมองเห็น “โอกาสความสำเร็จ” ที่รออยู่ “จั้ม” มองว่าการที่พวกเขาเข้ามาทำธุรกิจของตัวเอง ทำให้พวกเขาก้าวข้ามไปอีกสเต็ปหนึ่ง ตอนนี้อาจจะมีรายรับน้อยกว่าเงินเดือนของเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่ออกไปทำงานประจำ แต่คาดหวังว่าวันที่บริษัทเติบโตขึ้น พวกเขาจะมีรายรับมากกว่านี้แน่นอน
“หลายคนบอกว่าทำงานประจำจะเหนื่อย แต่สำหรับผมแล้วผมคิดว่ามีบริษัทของตัวเองเหนื่อยกว่า แต่ดีตรงที่ได้ทำงานของตัวเอง พวกเราคิดว่าแบบนี้ดีกว่า” ชาติ สมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในทีมเสริม
ส่วนแบงค์ในฐานะ CEO ของบริษัทเล่าอย่างเชื่อมั่นว่าในตลาดปัจจุบันมีปริมาณงานมากกว่าจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ซึ่งมีรายใหญ่ครองตลาดราวสิบเจ้า และมีรายย่อยอีกจำนวนหนึ่ง วัดได้จากจำนวนโปรเจ็คต์ ที่มีมาให้ทำอย่างต่อเนื่อง “การทำธุรกิจดิจิตอล ถ้ามีฝีมือจริงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะไม่มีงานทำ”เพราะบริษัทใหญ่ๆ ยังต้องการบริษัทสตาร์ทอัพจากภายนอกเข้าไปช่วยงานดูแลระบบ โดยจุดเด่นของ "เซเฟอร์ แล็บ" ที่ทำให้ลูกค้าไว้วางใจฝากงานให้ทำคือ เราส่งงานตามกำหนด และบริการหลังการขายที่ดี ทำให้ลูกค้าหลายรายแนะนำกันปากต่อปาก ปัจจุบัน ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในระดับ SMEs ไปจนถึงระดับกลางที่ต้องการเซ็ตอัพระบบของตัวเอง แต่ไม่มีทีมงานพัฒนาระบบประจำบริษัท
ทั้ง 5 หนุ่มยังได้ฝากคำแนะนำถึงน้องๆ และเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่มีความฝันจะเปิดบริษัทดิจิตอลซอฟต์แวร์เฮ้าส์เหมือนอย่างพวกเขาว่า ใครที่อยากเข้ามาสู่วงการนี้ ถ้าอยากทำก็ให้ลงมือทำเลย แต่เริ่มจากงานเล็กๆ ก่อน เมื่องานใหญ่ขึ้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายคนต้องใส่ใจเรื่องการบริหารจัดการงานให้ดี การทำงานต้องศึกษาระบบการทำงานให้ดีก่อน ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งงานตรงเวลา การมีความรับผิดชอบต่องานของลูกค้า และควรเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพราะงานสายนี้จะมีการอัพเดทอยู่เรื่อยๆ เราต้องตามให้ทัน สุดท้ายนี้เมื่อได้งานมาจะต้องทำให้สุดกำลังความสามารถที่มีอยู่เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ดีที่สุด
“ความสุขในการเป็นนักผลิตเกมเปรียบได้กับการที่คุณทำอาหารมาจานหนึ่งให้คนอื่นทานแล้วเขาบอกว่าอร่อย คนทำก็มีความสุข เกมก็เช่นเดียวกันกับอาหาร เราสร้างเกมขึ้นมาแล้วเห็นรอยยิ้มของคนที่มาเล่น เห็น feedback ว่าเขาชอบเกมที่เราคิด เราก็มีความสุข ในอีกด้านหนึ่งเรากำลังทำสิ่งที่เรารักเป็นอาชีพแล้วสามารถหารายได้ดูแลตัวเองและครอบครัวจากสิ่งที่เรารักได้ด้วย" 5 หนุ่มผู้ประกอบการรุ่นเยาว์กล่าวปิดท้าย
นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่คิดใหญ่ กล้าเดินตามความฝัน ด้วยการวางแผนทีละขั้นทีละตอน ฝึกฝนทักษะจากเวทีประกวด และการเข้าร่วมโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” จนไขว่คว้า “ความฝัน” ตั้งบริษัทของตัวเองได้