กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--นิด้าโพล
เนื่องในวันมาฆบูชา ของปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 4 มีนาคม 2558 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ใครรู้บ้างว่า วันมาฆบูชามีความสำคัญอย่างไร” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2558 กรณีศึกษาจากประชาชนชาวพุทธ ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรับรู้ถึงความสำคัญทางพระพุทธศาสนาของวันมาฆบูชา และการห่างไกลศาสนาของชาวพุทธ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนถึงความสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวัน “วันมาฆบูชา” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.34 ระบุว่า ไม่ทราบ ถึงเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวัน “วันมาฆบูชา” ขณะที่ ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ทราบ (สามารถระบุได้ถูต้อง ว่า เป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และมีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจใน ปี 2556 พบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบความสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวัน “วันมาฆบูชา” ลดลง หรือ กล่าวได้ว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ ทราบ เพิ่มขึ้น เล็กน้อย หรือหากมองอีกนัยหนึ่งคือผลการสำรวจทั้ง 2 ครั้งแทบไม่แตกต่างกันเลย จึงแสดงให้เห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องการประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของ“วันมาฆบูชา”
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อคำกล่าวที่ว่า “ทุกวันนี้ชาวไทยพุทธห่างไกลศาสนา” พบว่า ประชาชน ร้อยละ 48.80 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างมาก ร้อยละ 27.64 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 9.50 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 12.78 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 1.28 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย – เห็นด้วยอย่างมากให้เหตุผลว่า เด็กและผู้คนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัด ส่วนใหญ่มีแต่ผู้สูงอายุที่เข้าวัด และพฤติกรรมของพระสงฆ์ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา ไม่น่าเคารพนับถือ และระบบการศึกษาที่ขาดการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและการรณรงค์ในเรื่องหลักของพระพุทธศาสนา เน้นความเจริญทางด้านวัถตุนิยมและเทคโนโลยีมากกว่าตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ขณะที่ผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วยเลยให้เหตุผลว่า ประชาชนยังมีความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่ ยังคงเห็นผู้คนหมั่นเข้าวัดฟังธรรม ทำบุญ กันอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสังคมต่างจังหวัด
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 19.97 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.89 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.13 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.89 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.13 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 54.79 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 45.21 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.08 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 31.23 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 48.51 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 15.17 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่าง 100.00 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 23.57 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.09 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.34 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 26.30 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 24.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.58 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 33.52 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และตัวอย่างร้อยละ 5.76 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 14.80 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 14.07 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 25.45 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 14.47 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 13.25 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 15.12 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 2.85
เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 13.34 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 20.93 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 30.27 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 13.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 5.91 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 9.11 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.27 ไม่ระบุรายได้