กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 เพื่อบูรณาการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งด้านการเกษตร ณ วันที่ 10 ก.พ. 58 มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่ง จำนวน 42,578 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 61 ซึ่งจากการประเมินผลกระทบ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยซ้ำซาก จำนวน 3,051 ตำบล รวม 58 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 16.17 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปลูกนอกแผน ประมาณ 2.9 ล้านไร่
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ คือ 1) จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2) เพื่อรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3) เพื่อการเกษตรกรรม โดยจัดสรรน้ำเพื่อสำรองไว้สนับสนุนการเพาะปลูกฤดูฝนและจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง และ 4) เพื่อการอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ได้มีมาตรการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีการบริหารในลักษณะเชิงเดี่ยว ซึ่งมีการวางแผนปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีการสำรวจ ประเมินปริมาณน้ำต้นทุน วิเคราะห์สมดุลน้ำ การมีส่วนร่วมในการปรับลดรอบการผลิต การรักษาสภาพการเจริญเติบโตของไม้ผล ลดความสูญเสียที่เกิดจากการใช้น้ำ และการให้ความรู้การใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในกิจกรรมการเกษตรของกลุ่มผู้ใช้น้ำ
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แบ่งเป็น 1) เร่งรัดการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/58 โดยการจ้างแรงงาน 36,410 คน หรือร้อยละ 82 การส่งเสริมอาชีพโดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ฝึกอบรมอาชีพภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ 2) โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง (ตำบลละ 1 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซากให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตชุมชน จำนวน 3,051 ตำบล ใน 58 จังหวัด ภายในเดือนมีนาคม 3) การพัฒนาปรับปรุงขุดลอกแหล่งน้ำนอกพื้นที่เขตชลประทาน ให้สามารถกักเก็บน้ำได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. 4) การสนธิกำลังเข้าช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้ง มีแผนเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 295 คัน ทั้งนี้ได้ดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 55 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 49 คัน ปริมาณน้ำสะสม 257,560 ลบ.ม. 5) แผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 1 มีนาคม 2558 และ 6) การเผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรม รณรงค์ ให้แก่ชุมชน องค์กร สถาบันเกษตรกร เรื่องการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยได้จัดตั้งโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการรับมือแก้ไขปัญหาภัยแล้งแก่เกษตรกรและประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทาง รวมถึงการบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในการงดการเผา ทั้งนี้ การช่วยเหลือในเบื้องต้น จะมีการปฏิบัติการฝนหลวง โดยปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเชียงใหม่ และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครื่องจักรกล เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรอย่างถูกต้อง เป็นต้น
คำบรรยายภาพข่าว
ช่วยภัยแล้ง - นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์