กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย ศ.ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ....” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยคปก.ขอให้ชะลอการเสนอร่างพรบ.ทั้งสองฉบับไว้ก่อนเพื่อทบทวนหลักการและสาระสำคัญของร่างพรบ. เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในการปรับปรุงร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดเผยและทั่วถึง เพื่อให้ระบบแรงงานสัมพันธ์เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การพัฒนาประเทศทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทั้งสองฉบับมีความสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและได้ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนหลายครั้ง อาทิ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมาธิการแรงงานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลแรงงานกลาง ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภานายจ้าง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ILO) แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ องค์กรภาคประชาสังคม พบว่ามีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่ทันสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันที่ซับซ้อนและหลากหลาย ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน
คปก.มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการหยิบยกเอาเนื้อหาของร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.... ฉบับบูรณาการแรงงานที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอค้างอยู่ในสภาแต่มีการยุบสภาไปก่อนมาพิจารณา นอกจากนี้ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รวมถึงผู้ทำงานในหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เช่น องค์กรมหาชน หน่วยงานนิติบุคคลของรัฐ องค์กรอิสระของรัฐ เป็นต้น และไม่ควรแบ่งแยกสิทธิในการรวมตัวจัดตั้ง และการเจรจาต่อรองระหว่างภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจเป็นสองฉบับ
ยิ่งไปกว่านั้น คปก.เห็นว่าหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองและไม่สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีด้วย อย่างไรก็ตาม คปก.เสนอว่าในระหว่างที่ยังมิได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว กระทรวงแรงงานและรัฐบาลควรนำหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศ