กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ก.เกษตรฯ
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหายางพารา ว่า “หลังจากกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง18 เขต เข้าไปดูแลเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตร โดยให้ยางพาราเป็นสินค้านำร่องนั้น ได้มีการลงพื้นที่ เพื่อวางระบบและชี้แจงหลักการบริหารยางพารา ซึ่งจะมอบให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการยางพาราในจังหวัดของตนเอง ในเบื้องต้นแต่ละจังหวัดจะต้องมีการเตรียมการด้านข้อมูลต่างๆ เช่น พื้นที่การปลูก สต๊อกยาง หรือแม้แต่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อเสนอมายังส่วนกลางในการร่วมแก้ไขปัญหา และจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการจัดทำแผนการผลิตในปี2558/2559 ซึ่งจะส่งข้อมูลครั้งแรกในวันที่ 5 มีนาคมนี้ จากนั้นจะนำมาจัดทำแผนซึ่งบูรณาการร่วมกับแผนงานระดับชาติ และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) พิจารณาเห็นชอบก่อนจะนำมาใช้เป็นแผนการดำเนินงานสำหรับฤดูการผลิตหน้าที่จะเริ่มในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 – กุมภาพันธ์ 2559”
นายอำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เบื้องต้นมีการรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ยางพาราของแต่ละจังหวัด ภายหลังการลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายงานตัวเลขและสถานการณ์ยางในจังหวัด จากผู้ตรวจราชการฯ ในแต่ละเขต ด้านการปิดฤดูกาลการกรีดยาง ได้มีการทำความเข้าใจกับเกษตรกร และได้รับความสนใจเกี่ยวกับนโยบายที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า รวมทั้งเรื่องราคายางด้วย ทั้งนี้ในส่วนกลางพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากจังหวัดที่จะเสนอมาตรการต่างๆ เข้ามาที่จะช่วยผลักดันราคายางและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ และในระหว่างรอเปิดกรีดยางรอบใหม่ ให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ฤดูกาลผลิตในปี 58/59 ที่กำลังจะมาถึง โดยแต่ละจังหวัดต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับยางทั้งหมดในจังหวัดของตนเอง ตั้งแต่ชนิดของยาง ปริมาณยางที่ใช้ในจังหวัด ในประเทศ ปริมาณที่ส่งออก รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่และแนวทางแก้ไข ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีเสรีภาพในการบริหารจัดการยาง พร้อมทั้งเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ ในการบริหารจัดการยางในจังหวัดของตนเอง และจะเป็นตัววัดประสิทธิภาพในการบริหารยางของแต่ละจังหวัดอีกด้วย ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการบริหารยาง และ Warroom ยางในจังหวัดพื้นที่ปลูกยางทั้ง 69 จังหวัด เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยางพารา ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ยาง ฯลฯ จะทำให้สามารถประมวลผลออกมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการยางที่มีประสิทธิภาพได้”
“มาตรการนี้จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากได้มีการขายยางไปต่างประเทศแล้ว และนับจากนี้การผลิตยางพาราจะมีความสอดคล้องกับแผนการใช้ยางภายในประเทศ และการส่งออก ซึ่งจะสำเร็จได้เพราะมีการวางแผนในระยะยาว ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีการวางแผนระยะยาว 12 เดือน จากจังหวัดนำมาผนวกรวมกับแผนของชาติ ในการบริหารจัดการยางร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ ด้านการส่งออกยางไม่มีปัญหา ที่ผ่านมามีปัญหาเนื่องจากการที่ไทยส่งออกยางส่วนมากไปจีน เมื่อสถานการณ์ราคายางของจีนลดลง ก็จะส่งผลกระทบกับราคายางในการส่งออกของไทยด้วย ล่าสุดขณะนี้ราคายางอยู่ที่ 61 บาท/กก. ขึ้นมา 50 สตางค์” นายอำนวยกล่าว